Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 ตุลาคม 2556

การค้า

[AEC Plus]ASEAN Summit 2013: เกาะติดความคืบหน้า RCEP คาดทั้งปี’ 56 ส่งออกไป RCEP ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2415)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2556 นับเป็นปีแรกของการเจรจา ;กรอบความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP” (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งล่าสุดในวาระการประชุม ASEAN Summit 2013 ระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม ณ ประเทศบรูไน มีการประชุม RCEP Summit เพื่อติดตามความคืบหน้าของการประชุมกรรมการเจรจา RCEP ที่จัดขึ้นไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้[1]

จากผลการประชุมความคืบหน้าล่าสุด สรุปได้ว่า กรอบ RCEP จะมุ่งไปสู่การเปิดตลาดในขอบข่ายและเงื่อนไขเดียวกันแก่สมาชิกทุกประเทศเพื่อลดข้อเบี่ยงเบนระหว่างกัน โดยกลไกที่เห็นความคืบหน้าชัดเจนที่สุด คือ กลไกการเปิดตลาดการค้า ได้จัดตั้งคณะทำงานย่อยด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เน้นหนักการเปิดตลาดการค้าที่กว้างขึ้นกว่าระดับการเปิดตลาดระดับ ASEAN +1 ของทั้ง 6 คู่เจรจา (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยจะเร่งสรุปผลการเจรจาภายในปี 2558 เพื่อก้าวสู่การเปิดเสรีในปี 2559 สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปคือ การประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 3 ในเดือนมกราคม 2557 ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นรูปแบบการเปิดตลาดการค้าสินค้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น

การเจรจาเปิดตลาด RCEP ที่อยู่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งความคืบหน้าในการโยงใยเศรษฐกิจระหว่างกันของ 16 ประเทศสมาชิก จึงเป็นโอกาสที่ไทยควรติดตามต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์จากกรอบการรวมกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกนี้ รวมมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึงร้อยละ 28 ของ GDP โลก เพิ่มน้ำหนักความน่าสนใจให้แก่ซีกโลกฝั่งตะวันออกมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีจำนวนประชากรราวครึ่งโลกด้วยจำนวนสูงถึง 3,300 ล้านคน

ประเทศในกลุ่ม RCEP นับว่ามีบทบาทต่อไทยอย่างมากในแง่ของการเป็นตลาดส่งออกสินค้าและเป็นแหล่งรายได้อันมาจากการลงทุนและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังไทย โดยเฉพาะในด้านการค้าที่ค่อยๆ ขยับน้ำหนักความสำคัญขึ้น โดยมีกุญแจสำคัญจากการทยอยเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาแต่ละประเทศเป็นนับตั้งแต่ปี 2553 จนกระทั่งผลักดันสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงแตะร้อยละ 57 ในปัจจุบัน ซึ่งในภาพรวมการส่งออกของไทยไปยัง RCEP ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 87,312 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงเติบโตค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับภาพรวมของไทยที่เติบโตเพียงร้อยละ 1.0 (YoY) สำหรับสินค้าสำคัญที่ส่งออกไป RCEP อาทิ รถยนต์/ส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เครื่องจักรกล และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะนับจากนี้ไปประเทศกลุ่ม RCEP จะทวีความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจกับไทยในลักษณะเกื้อกูลกันโดยเฉพาะในด้านการค้าคาดว่าในปี 2556 น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 แตะมูลค่ากว่า 1.31 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7-3.2 มีมูลค่าการส่งออก 1.30 – 1.32 แสนล้านดอลลาร์ฯ

หากมองไปในระยะข้างหน้าการขยายการเปิดตลาดไปในส่วนของการลงทุน การบริการ และด้านอื่นๆ อันจะเปิดกว้างขึ้นตามมาในปี 2559 ย่อมช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศสมาชิกในหลายแง่มุมที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยญี่ปุ่นจะยังคงบทบาทด้านการลงทุนชัดเจนสร้างเม็ดเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จีนนอกจากจะมีความสำคัญด้านการค้าแล้วยังเร่งเครื่องการลงทุนอย่างน่าจับตา ผลักดันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP เพิ่มสูงขึ้น


[1] การดำเนินการเจรจาในกรอบ RCEP จะดำเนินผ่านการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP (RCEP-TNC) ที่เป็นคณะทำงานหลัก ซึ่งจัดขึ้นหลายครั้งในแต่ละปี แล้วจะมีการรายงานความคืบหน้าในการประชุม RCEP Summit แต่ละปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า