Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 พฤศจิกายน 2556

การค้า

การส่งออกของไทยไปจีนนับจากนี้ ...ท้าทายจุดยืนไทยคงอันดับ 1 ใน 3 ของสินค้าอาเซียนในจีน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2424)

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุม ASEAN-China Summit ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนตุลาคม 2556 นายกรัฐมนตรีของจีน นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า นับจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนจะก้าวข้ามจาก ;ทศวรรษแห่งทอง (Golden Decade)” ไปสู่ ;ทศวรรษแห่งเพชร (Diamond Decade)” ด้วยเป้าหมายการค้ารวมเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และการลงทุนสะสมระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563 การยกระดับความสัมพันธ์ดังกล่าวยิ่งเน้นบทบาทอาเซียนในจีนเด่นขึ้นในระยะข้างหน้า

ประเด็นที่ต้องจับตานับจากนี้ไปไม่เพียงภาวะเศรษฐกิจจีนเท่านั้นที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังจีน แต่ยังต้องมองให้ครอบคลุมถึงสินค้าคู่แข่งจากประเทศอาเซียนที่ในขณะนี้สามารถเข้าไปทำตลาดในจีนได้อย่างคึกคัก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 การนำเข้าของจีนจากกลุ่ม CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 9.9 (YoY) ขณะที่ประเทศอื่นๆ เติบโตในเกณฑ์ต่ำถึงติดลบ รวมทั้งไทยที่ยังคงหดตัวร้อยละ 2.3 (YoY) สัญญาณดังกล่าวสะท้อนปฐมบทแห่งการแข่งขันของสินค้าอาเซียนในตลาดจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเกาะติดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังตามมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าสินค้าไทยยังมีโอกาสคงบทบาทเป็นผู้เล่นที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียนในจีน เนื่องจากสินค้าไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน และมีสินค้าทำตลาดในจีนหลากหลายรายการมากขึ้นจากในอดีตที่กระจุกตัวเพียงไม่กี่รายการ ประกอบกับข้อได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งของไทยที่อยู่ใกล้กับจีน โดยอาศัยประโยชน์จากการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค (Regional Connectivity) ตามแรงสนับสนุนของนโยบายทางการจีนน่าจะช่วยผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่จีนได้หลายช่องทางการขนส่งที่เชื่อมต่อกันสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องพึงระวังการเร่งตัวของสินค้าคู่แข่งที่แข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากอินโดนีเซียและเวียดนามที่ต่างมีจุดแข็งเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างน่าสนใจ

ภาพรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2551-2555) การแข่งขันของสินค้าอาเซียนในตลาดจีนเริ่มส่อแววชัดเจนกดดันส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยจากร้อยละ 22 ในปี 2551 เหลือร้อยละ 19.2 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าจากเวียดนามที่ได้อานิสงส์นำเข้าสินค้าด้วยต้นทุนต่ำจากการมีพรมแดนติดกับจีน ผนวกกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตจนกระทั่งกำลังเบียดส่วนแบ่งสินค้าไทยในจีนได้มากขึ้น รวมถึงอินโดนีเซียที่แม้ไม่ได้แข่งขันในเชิงโครงสร้างสินค้ากับไทยโดยตรงแต่มูลค่านำเข้าสู่จีนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจอาจลดทอนบทบาทไทยในตลาดจีนระยะข้างหน้าได้ ในขณะที่สินค้ามาเลเซียอันเป็นเจ้าตลาดเดิมยังคงรักษาตลาดไว้ได้ค่อนข้างเหนียวแน่น รวมถึงเมียนมาร์กับ สปป.ลาว แม้จะยังไม่ใช่คู่แข่งไทยในขณะนี้แต่ก็เริ่มมีศักยภาพในการผลิตสินค้าและเข้าสู่จีนได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ประเด็นดังกล่าวจะทวีความเข้มข้นใน ;ทศวรรษแห่งเพชร” ของความสัมพันธ์อาเซียน-จีนที่กำลังดำเนินอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งหาทางเสริมความแข็งแกร่งทางการผลิต ต่อยอดการผลิตสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า หรือสร้างโอกาสขยายตลาดสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดจีน เพื่อบรรเทาภาวะการแข่งขันในกลุ่มสินค้าเดิมที่ต้องยอมรับว่าเสียส่วนแบ่งตลาดไปแล้ว โดยเฉพาะเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้า/ส่วนประกอบอันครอบคลุมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเป็นสินค้าที่ไทยพึ่งพิงตลาดจีนค่อนข้างมาก รวมถึงการแสวงหาช่องทางการค้าหรือพื้นที่การค้าใหม่ในจีนให้มากขึ้นเพื่อรักษาตลาดและผลักดันภาพรวมการค้าของไทยที่มีจีนเป็นตลาดหลักในขณะนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า