Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ธันวาคม 2556

อุตสาหกรรม

อ้อยและน้ำตาลปี’57 : จับตาสถานการณ์ราคาตลาดโลก...ยังคงกดดันผลตอบแทนเกษตรกร (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2446)

คะแนนเฉลี่ย
สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลปีการผลิต 2556/57 มีภาพเชิงบวกจากปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาล ซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 เทียบจากปีก่อน แต่หากพิจารณาทางด้านผลตอบแทนชาวไร่อ้อยอาจเป็นไปในเชิงลบ เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลก ปี 2557 ยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำตาลส่วนเกิน(ปริมาณผลผลิตเทียบกับการบริโภค) ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจากปี 2556 โดยคาดว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกปี 2557 จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 17-18 เซนต์ต่อปอนด์ เทียบกับปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ และปัจจัยดังกล่าว เป็นตัวกำหนดสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่เกษตรกรได้รับจะปรับลดลงประมาณร้อยละ 5 เทียบกับปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนการเพาะปลูกในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรม และยังคงจูงใจให้เพาะปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทั้งการผลิตน้ำตาล เอทานอล โรงไฟฟ้า รวมทั้งการคงสถานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกต่อไป ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับที่ภาครัฐได้มีการอุดหนุนราคาพืชเกษตรตัวอื่น อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลราคาอ้อยต้องพิจารณาก็คือ การบริหารจัดการหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ให้มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงเกินไป เพื่อให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีศักยภาพในการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อยและน้ำตาลในระยะยาว โดยแนวทางที่น่าจะทำได้ก็คือ การปรับลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสามารถทำได้โดยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ การเพิ่มค่าความหวานของอ้อยให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง และท้ายสุดจะช่วยลดภาระการเข้ามาช่วยเหลือจากภาครัฐลงในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม