Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ธันวาคม 2556

การค้า

การส่งออกไทยปี’56 ยังไม่ฟื้นตัว...ปี’57 อาจขยายตัวใกล้เคียง 7% จากอานิสงส์เศรษฐกิจโลก และข้อจำกัดที่คลี่คลาย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3471)

คะแนนเฉลี่ย
การส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 ที่บันทึกอัตราการหดตัวร้อยละ 0.5 (YoY) สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ปรากฏมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจากหลายปัจจัยฉุดรั้ง ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าในช่วงครึ่งปีแรก และข้อจำกัดด้านอุปทานของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายชนิดที่ทำให้สินค้าส่งออกของไทยยังคงได้รับประโยชน์อย่างจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และกดดันให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2556 อาจบันทึกอัตราการหดตัวร้อยละ 0.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2555
สำหรับในปี 2557 เศรษฐกิจของตลาดหลักที่น่าจะมีจังหวะการฟื้นตัวมั่นคงมากขึ้น ตลอดจนการค้ากับตลาดศักยภาพที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากภาพเศรษฐกิจโลกที่สดใส จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าไทยหลายกลุ่ม ซึ่งเมื่อประกอบกับข้อจำกัดด้านอุปทานของสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรม/เกษตรแปรรูปที่น่าจะคลี่คลายลง และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าบางประเภทที่อาจได้รับประโยชน์จากแรงกดดันด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในปี 2557 อาจขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 7.0

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้จะมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนภาพการเติบโตในช่วงเวลาข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่า ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีมะเมียที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ยังคงประสบข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศในสัดส่วนสูง ทำให้อาจได้รับผลกระทบบางส่วนจากการที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าที่มีต้นทุนพลังงานในสัดส่วนสูง อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสิ่งทอ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเด็นการเมืองที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการส่ง/รับคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และทำให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกยังคงล่าช้า และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปของไทยได้เช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า