Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กุมภาพันธ์ 2557

การค้า

จับตาส่งออกไทยไป EU ปีม้า : ขยายตัวราวร้อยละ 3.6 ท่ามกลางความท้าทายด้านประเด็น GSP และ FTA (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2459)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและหลุดพ้นภาวะถดถอย เนื่องจากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจของ EU หลายตัวในหลายประเทศอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบริโภคและการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ EU ให้ขยายตัวราวร้อยละ 0.9 ในปี 2557 โดยมี 11 ประเทศใน EU ที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าร้อยละ 2 และคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44 ของการส่งออกไทยไปยัง EU

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยัง EU จะขยายตัวได้ราวร้อยละ 3.6 ในปี 2557 ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่ม EU อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันทุกประเทศผนวกกับสินค้าของไทยกว่าร้อยละ 15 ของการส่งออกไปยัง EU ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ในปี 2557 นี้ ส่งผลให้การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวอย่างจำกัด

ด้านการค้าระหว่าง EU กับอาเซียน เวียดนามมีบทบาทในการส่งออกไปยังตลาด EU เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 21.2 ต่อปี ระหว่างปี 2551 – 2555 จากที่เคยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ในปี 2553 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ในปี 2556 จึงเป็นพลวัตการค้าที่น่าจับตาในปีนี้ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศไทย ในปี 2555 สินค้าไทยใน EU หลายประเภท ยังคงมีความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นที่ช่วยส่งเสริมภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2557

ด้านอุตสาหกรรมที่ไทยอาจจะยังแข่งขันได้แต่ประเทศอื่นได้เปรียบในด้านการผลิตมากกว่า ภาคธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าวควรเร่งปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด หรือย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า