Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กุมภาพันธ์ 2557

อุตสาหกรรม

ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปี’57 ... อาจขยายตัวในกรอบจำกัดไม่เกินร้อยละ 4.1 จากปัจจัยกดดันด้านโครงสร้างและความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2468)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของปี 2556 ที่ผ่านมา หดตัวร้อยละ 1.0 หรือมีมูลค่า 31,684 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 42.4 หดตัวมากถึงร้อยละ 11.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของคอมพิวเตอร์โลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ยังมีแรงหนุนจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์หลักตัวอื่นๆ ยังสามารถขยายตัวได้ดี เช่น ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ วงจรรวม วงจรพิมพ์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12.9, 22.8, 3.0 และ 2.3 การขยายตัวร้อยละ 13.5, 7.9, 53.7 และ 20.0 ตามลำดับ

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อาจขยายตัวได้ในกรอบจำกัดที่ร้อยละ 1.9-4.1 หรือมีมูลค่าประมาณ 32,300-33,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัญหาด้านโครงสร้างการส่งออกยังพึ่งพิงอุปสงค์คอมพิวเตอร์โลกเป็นหลัก ซึ่งกระทบโดยตรงกับการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) และวงจรรวมประเภทคอนโทรลเลอร์ อีกปัจจัยที่กดดันคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงจากปัจจัยความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้นโยบายการส่งเสริมและการสร้างความมั่นใจในการลงทุนต่างๆอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง หากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน หรือบางส่วนอาจเลือกหรือย้ายฐานการผลิตไปลงทุนยังประเทศอื่นที่มีโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คล้ายคลึงกับไทย อาทิ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักเริ่มฟื้นตัว น่าจะผลักดันให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น ความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรถยนต์จากการใช้น้ำมันมาเป็นระบบไฮบริดและไฟฟ้า ทำให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในอิเล็กทรอนิกส์ประเภทวงจรพิมพ์ วงจรรวม เซ็นเซอร์ต่างๆ ระบบชาร์จและแปลงไฟฟ้า และความต้องการพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น การอัพโหลดรูป วีดีโอต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการ HDD ยังคงมีอยู่

โอกาสอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่น่าสนใจในอนาคต น่าจะเป็นการสร้างคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก และในอนาคตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นระบบอัจฉริยะ สำหรับโอกาสอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ระบบควบคุมบ้านอัจฉริยะ เสื้อผ้าอัจฉริยะตรวจการทำงานร่างกาย เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม