ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงโอกาสการเติบโตในอนาคตของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสื่อและบันเทิง และบริการสนับสนุนธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การกำหนดข้อเสนอแนะในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดและอัตราการเติบโต โดยใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และธุรกิจร้านอาหาร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยรวม 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากปี 2556 ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปี 2556 โดยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นปัจจัยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนจัดทริปเดินทางท่องเที่ยวหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อเนื่องกัน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน
สำหรับภาพรวมของตลาดธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยปี 2556 นั้น มีมูลค่าประมาณ 669,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับหนี้สินภาคครัวเรือน รวมถึงต้นทุนการประกอบธุรกิจร้านอาหารที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ ค่าเช่าสถานที่ และราคาพลังงาน เป็นปัจจัยกดดันให้ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารอาจเติบโตอย่างชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นโอกาสสำหรับการขยายกิจการของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนก็สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยเป็นอย่างดี
- ธุรกิจสื่อและบันเทิง และบริการสนับสนุนธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2557 นี้ ธุรกิจสื่อและบันเทิงในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพร่ภาพและกระจายเสียงทางโทรทัศน์ ที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลที่มีจำนวนช่องธุรกิจ 24 ช่อง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ตลาดผลิตรายการโทรทัศน์มีมูลค่า 32,690 - 33,260 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14-16 จากปี 2556 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 28,780 ล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจสื่อและบันเทิงไทยยังได้รับกระแสการตอบรับที่ดีในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมีปัจจัยหนุนด้านความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม ระดับการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติที่มากขึ้นของประเทศต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการรับชมความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย สำหรับบริการสนับสนุนธุรกิจ ครอบคลุมถึง สถาปัตยกรรม ซอฟต์แวร์ ออกแบบ โฆษณา แฟชั่น และการพิมพ์นั้น ก็ได้รับปัจจัยหนุนมาจากความต้องการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเหมาจ้างเป็นโครงการ และ Outsource
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และธุรกิจร้านอาหาร สามารถใช้จุดแข็งของประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้านในภูมิภาคต่างๆมาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ รวมถึงใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทักษะและความอ่อนน้อมในการให้บริการของคนไทยที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างความประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อและบันเทิง และบริการสนับสนุนธุรกิจนั้น ควรใช้จุดแข็งทั้งด้านทักษะความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยอาจเริ่มจากตลาดอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม
ไม่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมยังสามารถนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาประยุกต์และผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมทั้งในส่วนของสินค้า บริการ และกระบวนการทำงาน รวมถึงใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรุดหน้าขยายแฟลตฟอร์มในการเข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อนำมาสู่การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น