Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 เมษายน 2557

อุตสาหกรรม

พลาสติกชีวภาพ...โอกาสการลงทุนของไทยท่ามกลางความต้องการตลาดโลกที่เติบโตสูงกว่าร้อยละ 50 ต่อปี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2493)

คะแนนเฉลี่ย

“พลาสติกชีวภาพ” เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอย่างหนึ่งที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยหลายๆ ประเทศได้มีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากชีวมวลหรืออินทรีย์สารจากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งย่อยสลายได้ เพื่อมาทดแทนการใช้พลาสติกทั่วไปที่ใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมีซึ่งย่อยสลายไม่ได้ จึงส่งผลให้ตลาดพลาสติกชีวภาพมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต โดยปัจจุบัน ความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 50 ต่อปี และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 ปริมาณความต้องการพลาสติกชีวภาพของโลกจะพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับประมาณ 1.3 ล้านตัน โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 216.5 เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีปริมาณความต้องการอยู่เพียง 0.4 ล้านตัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยยังคงอยู่ช่วงเริ่มต้น โดยมีปัจจัยสำคัญหลายๆประการที่มีส่วนกดดันการเติบโตของอุตสาหกรรม เช่น เงินลงทุนสูง ผู้บริโภคยังไม่เห็นความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพมากนัก ระบบการจัดการขยะยังไม่มีประสิทธิภาพ และเม็ดพลาสติกชีวภาพปัจจุบันอาจมีข้อจำกัดในเรื่องคุณสมบัติการใช้งานเมื่อนำมาขึ้นรูปผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยมีศักยภาพพอที่จะเป็นฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพได้ในอนาคต เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบชีวมวลโดยเฉพาะมันสำปะหลังสดและอ้อย ซึ่งหากนำมันสำปะหลังสดในสัดส่วนเพียงร้อยละ 25 ของปริมาณมันสำปะหลังสดที่ใช้ในการผลิตมันเส้นหรือมันอัดเม็ดเพื่อการส่งออก มาใช้ในการผลิต PLA จะทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงสูงขึ้นเป็น 1,517.5 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมากกว่ามูลค่าการส่งออกมันเส้นหรือมันอัดเม็ดในปี 2556 ถึงร้อยละ 15.2 และในกรณีที่นำอ้อยในสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออก มาใช้ผลิต PLA จะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 3,097.8 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมากกว่ามูลค่าการส่งออกน้ำตาลในปี 2556 ถึงร้อยละ 8.4

Key word: พลาสติกชีวภาพ, Polylactic Acid, ชีวมวล, อ้อย, มันสำปะหลัง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม