Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 พฤษภาคม 2557

การค้า

การค้าผ่านชายแดนสู่ตลาดอินโดจีนบูมต่อเนื่อง คาดมูลค่าการค้าชายแดนแตะ 1 ล้านล้านบาทในปี 2559 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2504)

คะแนนเฉลี่ย

ในปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM) กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากทิศทางและแนวนโยบายของประเทศเหล่านี้ที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยด้านแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการได้รับสิทธิพิเศษจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) นำมาซึ่งโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ ด้วยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลาง เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 5,000 กิโลเมตร ทำให้สะดวกในการทำการค้าชายแดน ต้นทุนค่าขนส่งต่ำและเป็นแหล่งระบายสินค้าที่ล้นตลาดของไทย อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบของผู้ประกอบการไทยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ โครงการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาใน CLMV ย่อมทำให้ความต้องการใช้สินค้าเพื่อการก่อสร้างและสินค้าที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการส่งออกของไทยด้วย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2554 ที่การส่งออกรวมของไทยเริ่มประสบปัญหาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้ดุลการค้าของไทยในรูปเงินบาทอยู่ในฐานะขาดดุลมาเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน (ปี 2554-2556) ซึ่งนับว่าเป็นภาพที่สวนทางกับการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับ 9.5 แสนล้านบาท และน่าจะเติบโตได้ถึงระดับ 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2559 ส่วนมูลค่าการค้าผ่านแดน คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 12 ส่งผลให้ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนผนวกกับการค้าผ่านแดนจะมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศกลุ่ม CLM ที่ยังคงมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิม

ในระยะยาว การค้าชายแดนยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งไทยเองได้มีการปรับตัวในหลายมิติเพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายแดน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การลดขั้นตอนกระบวนการผ่านแดน การปรับลด/ยกเลิกภาษี รวมถึงการขยายเวลาเปิด-ปิดด่านต่างๆ อันจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขยายตลาดสินค้าไทยให้กว้างขวางขึ้นได้

นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือต่างๆระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Subregional Economic Cooperation: GMS) และความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) เป็นต้น จะช่วยหนุนให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนก้าวเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้การบังคับใช้ข้อตกลงต่างๆอย่างเต็มรูปแ บบอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยก็ควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เสียโอกาสการเจาะตลาดเพื่อนบ้าน และลดต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ก็ควรมองหาลู่ทางที่จะส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะถือว่าไม่ยากนักสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยทำการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า