Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มิถุนายน 2557

เกษตรกรรม

ปัจจัยลบกดดันส่งออกกุ้งไทยปี’57 หดตัวต่อเป็นปีที่ 3 อีกราว 20% ... หลังหดตัว 22% ในช่วง 5 เดือนแรก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2518)

คะแนนเฉลี่ย

จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งที่ลากยาวมานับตั้งแต่ปลายปี 2555 ต่อปี 2556 จนถึงปัจจุบันล่วงเข้ากลางปี 2557 สถานการณ์ก็ยังไม่สามารถที่จะคลี่คลายกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะพยายามเร่งแก้ไข ส่งผลให้การส่งออกกุ้งของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 หดตัวลงร้อยละ 22 (YoY) มีมูลค่า 691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการหดตัวในทุกตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน อีกทั้ง เป็นที่สังเกตว่า ส่วนแบ่งสินค้าอาหารทะเลแปรรูปจากกุ้งและสัตว์เปลือกแข็งของไทยที่ส่งออกไปในตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ มีทิศทางที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ซึ่งเป็นนัยว่า สินค้ากุ้งจากไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ไปอย่างมากเพราะปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นหลัก

แม้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็มีปัจจัยลบที่เข้ามาสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมคือ การที่ไทยถูกปรับลดสถานะเป็น Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ในปี 2557 ทำให้ภาพการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยจำเป็นต้องเลื่อนออกไปจากเดิมและอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างชัดเจนได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกกุ้งของไทยในปี 2557 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันอีกราวร้อยละ 20 โดยปัจจัยลบหลักยังคงอยู่ที่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ขณะที่ประเด็นด้านแรงงานนั้น หากการเร่งชี้แจงทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องโดยภาครัฐและผู้ประกอบการไทยสามารถเรียกฟื้นความเชื่อมั่นที่มีต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้ซื้อ จนในที่สุดไทยได้รับการจัดสถานะดีขึ้นได้ในปีหน้า ปัจจัยนี้โดยลำพัง อาจมีผลค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี คาดว่าสินค้าส่งออกไทยในหมวดประมงและอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป โดยเฉพาะกุ้ง มีแนวโน้มต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งหลักในตลาดสหรัฐฯ ที่ได้รับการจัดสถานะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ทั้งนี้ คาดว่ากว่าสถานการณ์ด้านวัตถุดิบกุ้งจะฟื้นตัวชัดเจนจนกลับสู่ภาวะปกติได้ น่าจะเป็นในปี 2558 ส่วนการยกสถานะไทยในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น ก็อาจยังต้องรอไปจนถึงช่วงกลางปี 2558

ในระยะข้างหน้า การเร่งบูรณาการเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมประมง ด้วยการดูแลมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อย่างจริงจัง ตลอดจนการเน้นพัฒนาสินค้าคุณภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้ตราสินค้าไทย พร้อมๆ กับการแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างความมั่นคงของสายการผลิต คงจะเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาดำเนินการ เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีจากคู่ค้าในตลาดโลกในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม