Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 สิงหาคม 2557

อุตสาหกรรม

หยุดยาววันแม่'57...คนกรุงพาแม่ทานข้าวนอกบ้าน คาดเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหาร 1,120 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2526)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2557 ระหว่างวันที่ 14 - 27 กรกฎาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯหรือเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาศึกษา/ทำงานในกรุงเทพฯจำนวน 402 คน ครอบคลุมทุกช่วงอายุและระดับรายได้ โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 66 มีแผนรับประทานอาหารร่วมกับคุณแม่ ในจำนวนนี้ สัดส่วนร้อยละ 51 มีแผนรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีแผนรับประทานอาหารนอกบ้านส่วนใหญ่มีงบประมาณสำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่เฉลี่ยต่อคนต่อมื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลสำหรับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ว่า มีสาเหตุมาจากราคาอาหารที่สูงขึ้น

กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่ส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ภัตตาคาร และสวนอาหาร ที่มีลักษณะเป็นร้าน Stand Alone คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ในขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 และร้านอาหารในโรงแรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 โดยรสชาติและความหลากหลายของอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในการเลือกร้านอาหารสำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่ถึงสัดส่วนร้อยละ 88 รองลงมากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเดินทางคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 77 ยังคงให้ความสำคัญกับคำแนะนำของบุคคลรอบข้าง อันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่ ถือได้ว่าเป็นมื้ออาหารสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวใช้เวลารับประทานอาหารร่วมกัน ที่สมาชิกในครอบครัวต่างก็คาดหวังที่จะได้รับประทานอาหารและได้รับบริการที่ดีเป็นพิเศษ คำแนะนำของบุคคลรอบข้างซึ่งถือได้ว่าเป็นประสบการณ์โดยตรง จึงมีผลต่อการเลือกร้านอาหารมากกว่าสื่อโฆษณาทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้กลยุทธ์การบอกต่อ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจรับประทานอาหารนอกบ้านมากกว่าสื่อโฆษณาทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมื้ออาหารที่เป็นวาระสำคัญต่างๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลวันแม่ระหว่างวันที่ 9 - 12 สิงหาคม 2557 ว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจร้านอาหารประมาณ 1,120 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12 จากในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2556 ซึ่งมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจร้านอาหารประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่า คนกรุงเทพฯจะออกมารับประทานอาหารนอกบ้านอย่างหนาแน่น และส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านของคนกรุงเทพฯสะพัดสูงสุดในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต่างแข่งขันเพื่อช่วงชิงลูกค้ากลุ่มครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่ขีดความสามารถในการให้บริการของร้านอาหารแต่ละร้านเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจให้บริการลูกค้าได้อย่างไม่ทั่วถึงและสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากการมุ่งสร้างรายได้ในวันที่ 12 สิงหาคมแล้ว ยังมีช่องว่างในการประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการร้านอาหารในวันอื่นๆที่นอกเหนือจากวันที่ 12 สิงหาคมแทนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดึงดูดครอบครัวกลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับการออกมารับประทานอาหารนอกบ้านในวันที่ 12 สิงหาคม ทั้งในด้านความหนาแน่นของลูกค้าที่มาใช้บริการร้านอาหาร การเดินทางที่ไม่สะดวก รวมถึงการจราจรที่ติดขัด ให้ออกมารับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงวันอื่นๆที่ไม่ใช่วันที่ 12 สิงหาคมทดแทน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง และสามารถสร้างรายได้ตลอดช่วงเทศกาลวันแม่ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ แม้ว่าภาวะค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลให้คนกรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มสูงขึ้น แต่การรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่เป็นกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวใช้เวลารับประทานอาหารในมื้อที่สำคัญร่วมกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2557 นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารสามารถหลีกเลี่ยงการใช้กลยุทธ์การตัดราคา ท่ามกลางภาวะต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น เช่น วัตถุดิบ พลังงาน แรงงาน ค่าเช่าสถานที่ เป็นต้น ซึ่งจะยิ่งบีบคั้นให้กำไรของธุรกิจลดลงได้ หากแต่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารควรมุ่งสร้างความประทับใจสำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในช่วงเทศกาลวันแม่ในด้านต่างๆแทนเช่น รสชาติอาหาร ความหลากหลายของอาหาร ความสะดวกในการเดินทาง การให้บริการ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม