Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กันยายน 2557

การค้า

สานต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่นำร่อง...หนุนการค้าชายแดน และรักษาความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2533)

คะแนนเฉลี่ย

การค้าชายแดนระหว่างไทยในครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่ากว่า 4.8 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.0 (YoY) เป็นที่คาดว่าการค้าชายแดนจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ส่งผลให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปริมาณการค้าและการลงทุนที่คงเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงการแข่งขันในภูมิภาคที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น

หนึ่งในนโยบายที่ทางการไทยเร่งผลักดันในขณะนี้ คือ นโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยในระยะแรกประกอบด้วย 5 พื้นที่นำร่องซึ่งอยู่ในจ.ตาก จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.มุกดาหาร และจ.สงขลา ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุน ผ่านสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนได้รับจากการดำเนินกิจการภายในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนต่างๆอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ทำการศึกษาแผนแม่บทจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ฉบับเดิม) ประกอบกับข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งต่างๆ ซึ่งคาดว่านักลงทุนน่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับกรอบสิทธิประโยชน์ของเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือมากกว่า (บีโอไอ เขต 3 พลัส) ตลอดจนได้รับผลประโยชน์อื่นๆ อาทิ มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในระยะแรก ธุรกิจไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากด้านการค้าเป็นหลัก เนื่องจากด้านการลงทุนยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบการจัดการด่านชายแดน เป็นต้น โดยธุรกิจเด่นที่คาดว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับทิศทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ภาคเอกชนต้องร่วมมือกันกับภาครัฐในการยกระดับเมืองเศรษฐกิจชายแดนให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน รวมถึงการบริการในอนุภูมิภาค โดยภาคเอกชนไทยควรเริ่มมองหาลู่ทางขยายธุรกิจ รวมทั้งพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในภาวะที่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงภายหลังการเข้าสู่ AEC ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงปีกว่าเท่านั้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า