Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กันยายน 2557

อุตสาหกรรม

เทศกาลกินเจหนุนธุรกิจร้านอาหารคึกคักคาด 24 ก.ย.-2 ต.ค. 57 เม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหารเจในกรุงเทพฯ 2,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2540)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม - 9 กันยายน 2557 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 380 คน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมคนกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเทศกาลกินเจ วันที่ 24 กันยายน - 2 ตุลาคม 2557 โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 66 กินเจ ในจำนวนนี้ กลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 51 ใช้บริการร้านอาหาร ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่า ร้านอาหารยังคงได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสามารถตอบโจทย์รองรับไลฟ์สไตล์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดครอบครัวจากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวขนาดเล็ก การอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น รวมถึงการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการร้านอาหารเจส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 43 ให้ความสำคัญกับรสชาติและความหลากหลายของอาหาร ในขณะที่รองลงมากลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 37 ให้ความสำคัญกับความสะอาด และกลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 28 ให้ความสำคัญกับราคาอาหาร โดยเมื่อพิจารณามุมมองของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการร้านอาหารเจต่อภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 58 มองว่าภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการกินเจบ้างแต่ยังพอปรับตัวได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารเจ ได้แก่ รสชาติ ความหลากหลาย และความสะอาด เป็นลำดับต้นๆ ในขณะที่ราคาเป็นปัจจัยที่ให้ความสำคัญรองลงมา โดยต่างก็มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมการกินเจท่ามกลางภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นในรูปแบบต่างๆทดแทน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 24 กันยายน - 2 ตุลาคม 2557 นี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหารเจในกรุงเทพฯและปริมณฑลมูลค่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในช่วงเทศกาลกินเจปี 2556 ร้อยละ 14.3 จากปัจจัยด้านจำนวนผู้กินเจเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับงบประมาณในการกินเจ และจำนวนวันกินเจโดยเฉลี่ยต่อคนของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2557 ที่สูงขึ้นกว่าปี 2556

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารควรให้บริการอาหารเจที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มครอบครัวขนาดเล็ก กลุ่มผู้อาศัยอยู่คนเดียว รวมถึงกลุ่มผู้ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ เช่น นักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท เป็นต้น โดยชูจุดแข็งในด้านการปรุงอาหารเจแบบสดใหม่ รวมไปถึงการให้บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการรับประทานอาหารสำหรับลูกค้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่เหนือกว่าผู้ขายอาหารริมทาง และร้านสะดวกซื้อ

ท่ามกลางภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้กินเจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินเจไป ยกตัวอย่างเช่น ความหลากหลาย หรือชนิดของอาหารเจในแต่ละมื้อที่อาจลดลง เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันเพื่อดึงดูดให้ผู้กินเจเข้ามาใช้บริการร้านอาหารมากขึ้นผ่านการนำเสนอความคุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น การจัดอาหารเจแบบเป็นชุดในมื้ออาหารต่างๆที่ประกอบด้วยอาหารจานหลัก อาหารว่าง และเครื่องดื่ม การจัดอาหารเจแบบเป็นชุดบริการสำหรับผู้กินเจที่มาเป็นกลุ่ม เป็นต้น รวมถึงกระตุ้นให้ผู้กินเจเพิ่มงบประมาณในการกินเจเฉลี่ยต่อคนให้สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การดึงดูดให้ผู้กินเจที่ร้านอาหารซื้ออาหารเจสำเร็จรูปจากร้านอาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การมีบริการอาหารว่างที่ได้รับความนิยมเพิ่มเติม เช่น นมถั่วเหลือง ผลไม้ น้ำผักและผลไม้ เครื่องดื่มธัญพืช เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารยังต้องให้บริการตอบโจทย์เป้าหมายการกินเจที่หลากหลายขึ้น โดยชูจุดแข็งในด้านการให้บริการอาหารเจที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพด้วย กล่าวคือ มีคุณค่าทางโภชนาการครบ สะอาด และเป็นอาหารที่ไม่มีไขมันมากเกินไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม