ปัจจุบันอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมา มูลค่าการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ของโลก ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 5.5 เนื่องจากรถยนต์แต่ละคันมีแนวโน้มการใช้อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันรถยนต์มีสัดส่วนต้นทุนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ต่อคันเฉลี่ยถึงร้อยละ 25-30 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจของการส่งออกแผงวงจรพิมพ์ยานยนต์ไทย ซึ่งแผงวงจรพิมพ์เป็นชิ้นส่วนประกอบพื้นฐานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และไทยมีศักยภาพและความพร้อมสูงในการผลิต
ความนิยมรถยนต์ไฮบริดในตลาดโลกเป็นปัจจัยเร่งให้ความต้องการแผงวงจรพิมพ์ยานยนต์โลกขยายตัวสูงเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี เนื่องจากมีการใช้แผงวงจรพิมพ์ต่อคันมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆ จากส่วนเพิ่มเติมของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และจำนวนรถยนต์ไฮบริดขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 1,646 ตั้งแต่ช่วงปี 2553 ถึงปี 2556 และปี 2557 นี้คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 67 จากปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้การส่งออกแผงวงจรพิมพ์ของไทยในช่วง 8 เดือนแรก ขยายตัวถึงร้อยละ 32.6 (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 772 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับภาพรวมการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.6 (YoY) ซึ่งการส่งออกวงจรพิมพ์ของไทยส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70-75 เป็นวงจรพิมพ์เพื่อใช้ในรถยนต์
สำหรับสถานการณ์ของการส่งออกแผงวงจรพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่เหลือของปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 35 หรือมีมูลค่าประมาณ 1,260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปี 2558 คาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในระดับสูงเช่นกัน ซึ่งอาจขยายตัวถึงร้อยละ 20-25 หรือมีมูลค่าประมาณ 1,500-1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องมีการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีเสถียรภาพก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงกับความต้องการรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น