Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 มกราคม 2558

การค้า

จับตาการส่งออกไทยไป EU ปี’58 … เผชิญสารพัดปัจจัยลบ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2579)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2558 โจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องติดตามมี 3 ด้าน คือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ EU ที่เปราะบางอย่างมาก ผสานกับการแข็งค่าของเงินบาทต่อเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินด่องของเวียดนามและค่าเงินรูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซีย ทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง และเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ทุกรายการสินค้าจาก EU ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมา ทำให้สินค้าไทยที่เข้าสู่ EU มีราคาเพิ่มขึ้นจากการกลับมาเก็บภาษีในอัตราปกติ หรือ MFN (Most Favoured Nation) ยิ่งเพิ่มภาระต้นทุนทำให้สินค้าไทยอาจแข่งขันทางด้านราคาลำบากมากขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สารพัดปัจจัยลบดังกล่าว ซ้ำเติมผู้ประกอบการไทยให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนทั้งที่เกิดจากค่าเงินและภาระทางทางภาษีที่เพิ่มขึ้น กดดันการส่งออกของไทยไป EU ในปี 2558 อาจจะขยายตัวเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 (กรอบประมาณการขยายตัวร้อยละ 0.5-3.5) จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2557 ภายใต้สมมติฐานคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ EU ที่ประมาณร้อยละ 1.1 ในปี 2558 (ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2557) อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปย่ำแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ ก็มีโอกาสฉุดการส่งออกของไทยไป EU ให้หดตัวได้ในที่สุด

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก ไม่เพียงจะต้องคงคุณภาพของสินค้าไทยเพื่อจับตลาด EU ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ยังต้องบริหารจัดการต้นทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินและอัตราภาษีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3-4 เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องตระหนัก โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบขั้นต้นซึ่งมีความเสี่ยงที่ EU จะเบนเข็มไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ อาหารทะเล เป็นต้น ขณะที่ผู้ส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการต้นทุนน่าจะพอประคองสถานการณ์ได้มากกว่า อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าปี 2558 จะเป็นช่วงเริ่มแรกที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU ซึ่งสินค้าไทยยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำตลาดได้ และยังมีช่องทางอื่นที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แต่ในระยะข้างหน้าสินค้าไทยจะค่อยๆ ถูกช่วงชิงตลาดไป จากการที่คู่แข่งของไทยมี FTA กับ EU หรือสินค้าที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้สิทธิ GSP นั่นจะทำให้ประเทศเหล่านั้นมีประสิทธิภาพการผลิตและส่งออกสินค้าป้อน EU ได้มากขึ้น รวมไปถึงหากผู้นำเข้า EU โยกย้ายคำสั่งซื้อจากไทยไปยังประเทศที่ผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มหรือตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า หรือมีต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าทั้งจากผลของค่าเงินและผลของสิทธิทางภาษี GSP และหากผู้ประกอบการในไทยตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย นั่นจะทำให้ไทยสูญเสียห่วงโซ่การผลิตและการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง จะยิ่งทำให้ไทยสูญเสียทั้งเม็ดเงินลงทุนและรายได้มากกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น

ดังนั้น หากไทยสามารถกลับมาเร่งรัดเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) จนบังคับใช้ได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าไทยได้สิทธิประโยชน์ชดเชยสิทธิ GSP ที่สูญเสียไป ขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า