Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 มิถุนายน 2558

อุตสาหกรรม

แม้ตลาดรถยนต์จะมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยอดรวมทั้งปี 58 อาจหดตัวร้อยละ 2 ถึง 7 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2635)

คะแนนเฉลี่ย

สำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าโอกาสในการฟื้นตัวน่าจะยังคงเป็นไปอย่างยากลำบากอยู่ โดยคาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจอยู่ที่ระหว่างหดตัวร้อยละ 2 ถึง 7 หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์ 820,000 ถึง 860,000 คัน โดยหากแยกเป็นประเภทรถยนต์แล้ว คาดว่าตลาดรถยนต์นั่งทั้งปี 2558 มีโอกาสทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้ที่ระหว่าง 385,000 ถึง 404,000 คัน หรืออยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 2 ถึง 6 ขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทั้งปี 2558 มีโอกาสทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้ที่ระหว่าง 435,000 ถึง 456,000 คัน หรืออยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 3 ถึง 7 โดยสาเหตุที่ตลาดรถยนต์นั่งอาจหดตัวน้อยกว่ารถยนต์เพื่อการพาณิชย์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว อนึ่ง สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดรถยนต์อาจจะต้องเผชิญกับการหดตัวที่มากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งยังเป็นการหดตัวสูงในระดับตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องมาจากปี 2557

โดยปัจจัยลบหลักสำหรับปีนี้มาจาก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสะสม ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ ข้าวและยางพาราที่ยังตกต่ำต่อเนื่อง เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังน่ากังวลซึ่งอาจทำให้การส่งออกฟื้นตัวอย่างจำกัด ขณะที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ล่าช้ากว่าที่คาด รวมถึงจำนวนรถมือสองใหม่ๆ ที่หลุดไฟแนนซ์เข้ามาแข่งขันในตลาดจำนวนมาก จะเป็นแรงกดดันสำคัญในปีนี้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้า และการออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อด้วยการลดค่างวดให้ถูกลงของค่ายรถต่างๆ อีกทั้งยังมีเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับลดลง การเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AEC ที่จะทำให้ทิศทางการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน รวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ยังมีเรื่องแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเพิ่มเข้ามาในปีนี้ด้วย

ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งดีลเลอร์รถยนต์ในบางจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้ รวมถึงการจำหน่ายรถยนต์บางประเภท เช่น รถยนต์อีโคคาร์ และรถกระบะส่วนใหญ่ ที่อาจจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็น่าจะยังคงต้องบริหารสต็อกรถยนต์อย่างระมัดระวังต่อเนื่องจากปีก่อน ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดที่ชะลอตัวด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม