Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2558

การค้า

1 ปีราคาน้ำมันต่ำ ... คาดอุปสงค์อ่อนแรงฉุดการส่งออกไทยไปตลาดอาหรับทั้งปี 2558 ลดลง 13% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2656)

คะแนนเฉลี่ย
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงมาแตะ 47 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ณ เดือนสิงหาคม 2558 ทรุดตัวลงมาถึงร้อยละ 59.2 จากระดับสูงสุดในช่วงกลางปี 2557 อีกทั้ง มีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันในช่วงขาลงนี้จะกินเวลายาวนานกว่าครั้งก่อนในช่วงปี 2551-2552 ยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจอาหรับ หรือตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ซึ่งพึ่งพารายได้จากการค้าน้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยผลพวงจากราคาน้ำมันกระทบต่อการส่งออกของไทยที่มีปลายทางเป็นตลาดอาหรับหดตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือมีมูลค่า 6,097 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นภาพอ่อนแรงต่อเนื่อง ทำให้ตลอดทั้งปี 2558 การส่งออกของไทยไปอาหรับอาจลดลงมาแตะที่มูลค่า 10,200 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 13 มีกรอบประมาณการระหว่างหดตัวร้อยละ 15.6 ถึงหดตัวร้อยละ 9.6 มีมูลค่า 9,900-10,600 ล้านดอลลาร์ฯ และคิดเป็นการสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปยังอาหรับราว 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ แม้ทิศทางของราคาน้ำมันในปี 2559 อาจกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างจากจุดที่ลงไปต่ำในปี 2558 แต่ก็คาดว่าจะยังต่ำกว่าระดับที่จะสามารถชดเชยแรงกดดันในภาคการคลังและเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ ตลอดจนต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาหรับ ซึ่งหากสถานการณ์แย่ลงอาจฉุดเศรษฐกิจทั้งอาหรับให้ทรุดลงไปอีก และส่งผลต่อเนื่องมาถึงการส่งออกของไทย ที่ซาอุดีอาระเบียมีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ในบรรดาตลาดอาหรับทั้งหมดของไทย
จากภาพดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในระยะข้างหน้าการส่งออกของไทยไปตลาดอาหรับอาจไม่สดใสมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันจะได้รับผลกระทบจากการอ่อนแรงของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ตลาดนี้ก็ยังน่าสนใจด้วยความหลากหลายของกำลังซื้อที่มีประชากรถึง 430 ล้านคน จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันที่หลายรายการในปัจจุบันยังมีการปรับตัวได้ค่อนข้างดี อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้ ไก่สด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมที่ทำจากข้าวสาลี เครื่องปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซุปและอาหารปรุงแต่ง ธัญพืช โกโก้ ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์จากข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าอาหารฮาลาลไทย ซึ่งภาครัฐบาลไทยกำลังมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนการผลิตและการลงทุนก็ถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตในตลาดอาหรับได้ในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า