Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ตุลาคม 2558

การค้า

การค้าผ่านแดนไทย – จีนตอนใต้ อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของการค้าชายแดนไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2664)

คะแนนเฉลี่ย

การสนับสนุนการค้าผ่านชายแดนไทยนับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของทางการในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทย โดยมีการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าผ่านชายแดนให้แตะระดับ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2560 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนตอนใต้ ที่แม้จะครองสัดส่วนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าส่งออกผ่านชายแดนโดยรวม กลับมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 38.7 (YoY) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนไทยไปยังประเทศอื่นๆในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตัวของการส่งออกผ่านแดนจากไทยไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งคงทวีความสำคัญมากขึ้นต่อพัฒนาการของการค้าชายแดน/ผ่านแดนของไทยในภาพรวม

ปัจจุบัน เส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าทางบกผ่านชายแดนจากไทยไปจีนตอนใต้ ประกอบด้วยเส้นทางกรุงเทพ-กว่างซีผ่านด่านนครพนม (R12) และมุกดาหาร (R9) และเส้นทางกรุงเทพ – ยูนนานผ่านด่านเชียงราย (R3A) โดยสินค้าส่งออกไปกว่างซีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าขั้นกลางในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยูนนานผ่านด่านเชียงรายราวร้อยละ 90 เป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นเพื่อการบริโภค อันได้แก่ ผักและผลไม้ อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของเส้นทาง R3A ถือเป็นการเปิดประตูสู่บริเวณจีนตอนในโดยเฉพาะเมืองเฉิงตูและมหานครฉงชิ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่ทางการจีนให้ความสำคัญ สะท้อนโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเป็นผู้บุกเบิกตลาดภายในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลาง อาทิเช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ วงจรพิมพ์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนพัฒนาการของอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในเฉิงตูและฉงชิ่ง รวมไปถึงการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในฉงชิ่ง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในมิติของความได้เปรียบในแง่ของการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A พบว่า ไทยมีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าทั้งประเภทชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในแง่ของระยะเวลา เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังเขตอุตสาหกรรมบริเวณจีนตอนใน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจส่งออกสินค้าไปยังจีนตอนใน ได้แก่ ประเด็นในเรื่องของกำแพงภาษีของสินค้าบางชนิด ตลอดจนข้อจำกัดในเรื่องข้อตกลงในการขนส่งสินค้า จากไทยไปยังจีนตอนใต้ผ่านสปป.ลาว ทั้งนี้ การแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สอดคล้องตามข้อตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดน (The Cross-Border Transport Agreement: CBTA) ตลอดจนการเกิดขึ้นของความร่วมมือทางเศรษกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตน่าจะช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าวได้ในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า