Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2558

การค้า

การส่งออกปี 2559 มีโอกาสฟื้นกลับมาขยายตัวในกรอบ 0.5-3.5% แต่ยังอาจถูกถ่วงลงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3595)

คะแนนเฉลี่ย

มูลค่าการส่งออกของไทยในภาพรวม ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยนอกจากจะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และคู่ค้าสำคัญในเอเชีย แล้ว ภาคการส่งออกไทยยังถูกรุมเร้าจากอีกหลายปัจจัยลบ อาทิ การปรับตัวลงของราคาสินค้าส่งออกของไทยตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่ทำให้สินค้าเทคโนโลยีของไทยยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกได้โดยตรง ตลอดจนผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป และ ณ ขณะนี้ คงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สถานการณ์การส่งออกไทยในปี 2558 อาจจะหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5 ซึ่งนอกจากจะเป็นภาพที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 แล้วยังตอกย้ำว่า มูลค่าการส่งออกของไทยยังไม่สามารถฟื้นกลับมาบันทึกตัวเลขที่สูงขึ้นตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แม้ ณ ขณะนี้ สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออก จะยังคงไม่มีภาพที่ชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2559 ยังคงมีโอกาสที่จะพลิกกลับมาบันทึกตัวเลขที่เป็นบวกได้ในกรอบประมาณร้อยละ 0.5-3.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 2.0 เนื่องจากการเทียบกับฐานมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงค่อนข้างลึกในปี 2558 อย่างไรก็ดี คงต้องย้อนกลับมามองว่า ระดับการฟื้นตัวของภาคการส่งออกดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้กรอบที่จำกัด และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญหลายแห่ง ก็ยังมีความเปราะบางในช่วงปีข้างหน้า โดยยังคงต้องจับตา 2 ตัวแปรสำคัญ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2559 และ สถานการณ์ราคาน้ำมัน/สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า