Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 เมษายน 2559

การค้า

การส่งออกเดือนมี.ค. 59 เป็นบวกต่อเนื่องที่ 1.3% YoY … ยังมีอานิสงส์หลักจากการส่งออกทองคำ และรถยนต์นั่ง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3616)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขการส่งออกของไทยยืนอยู่ในแดนบวกได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยมูลค่าการส่งออกล่าสุดในเดือนมี.ค. 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 (YoY) ในเดือนก.พ. 2559 ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาส 1/2559 ขยายตัวร้อยละ 0.9 (YoY) ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยให้หลุดพ้นจากภาวะหดตัว คือ มูลค่าการส่งออกทองคำและรถยนต์นั่ง ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 234.8 (YoY) และร้อยละ 88.0 (YoY) ในไตรมาสแรกของปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพรวมราคาสินค้าส่งออกที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ยังคงเป็นตัวฉุดรั้งกรอบการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกของไทย โดยดัชนีราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลงร้อยละ -2.0 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2559 ซึ่งนอกจากจะสะท้อนภาพที่ติดลบลากยาวต่อเนื่องตลอดช่วง 37 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ยังลดทอนแรงหนุนของปริมาณการส่งออกสินค้าเดือนมี.ค. 2559 ที่สามารถประคองตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 (YoY)

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำแล้ว คงต้องยอมรับว่า ยังมีสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่รายการ ที่อาจจะสามารถประคองสัญญาณการขยายตัวไว้ได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี เช่น รถยนต์นั่ง ซึ่งทำราคาได้สูงขึ้นและขยายตัวได้ดีในตลาดออสเตรเลีย ตลอดจนบางประเทศในตะวันออกกลาง และอาเซียน ข้าว ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการในตลาดจีนและอาเซียนเดิม 5 ประเทศ และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ในตลาดอาเซียน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณบวกดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับแรงฉุดของสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2559 แม้การส่งออกในไตรมาส 1/2559 ที่พลิกกลับมาขยายตัวได้เหนือความคาดหมายที่ร้อยละ 0.9 (YoY) จะช่วยลดโอกาสความเป็นไปได้ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปี 2559 จะหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ลง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 0 ตามเดิม (โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วงร้อยละ -2.0 ถึงร้อยละ +2.0) เนื่องจากประเมินว่า การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจจะยังคงเป็นไปในกรอบจำกัดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่ยังอยู่ต่ำกว่าปีก่อน เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และข้อจำกัดในการตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า