Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 เมษายน 2559

อุตสาหกรรม

ธุรกิจเหล็กในไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว...อานิสงส์ จากโครงการก่อสร้างและเหล็กเกรดพิเศษเติบโต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2730)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2559 ความต้องการใช้เหล็กในไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการก่อสร้างเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้เหล็กในการก่อสร้างโครงการภาครัฐ ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ อย่างไรก็ดี บางโครงการอาจอยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้าง โดยเฉพาะชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กก่อสร้างขนาดใหญ่น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และเติบโตต่อเนื่องไปยังปี 2560 นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างของภาคเอกชนในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่อยู่อาศัยก็น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับอานิสงส์จากโครงการบ้านประชารัฐ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างในปี 2559 น่าจะมีปริมาณ 8.42 - 8.60 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 2.3 – 4.5 จากปี 2558 มีปริมาณ 8.23 ล้านตัน เติบโตร้อยละ 2.0

นอกจากนี้ ความต้องการใช้เหล็กเกรดพิเศษที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศอาจจะชะลอตัว แต่จากที่กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนมีการขยายโรงงานการผลิต บวกกับปริมาณการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ตลอดทั้งปี 2559 น่าจะเติบโตเล็กน้อย ก็อาจทำให้ความต้องการใช้เหล็กอุตสาหกรรมในกลุ่มยานยนต์ปรับตัวดีขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนในปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตราวร้อยละ 1.2 – 2.8 หรือมีปริมาณราว 3.04 – 3.08 ล้านตัน จากปี 2558 มีปริมาณ 3.0 ล้านตัน ขณะที่ ความต้องการเหล็กอุตสาหกรรมอื่นที่มิใช่เหล็กเกรดพิเศษและคุณภาพสูงยังชะลอตัว และเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคา ดังนั้น ผู้ผลิตเหล็กไทย จึงควรหันไปใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและขยายฐานลูกค้าระดับกลาง-บน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 น่าจะมีปริมาณ 16.65 – 17.0 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากที่หดตัวร้อยละ 3.5 ในปีก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากความต้องการเหล็กก่อสร้างและเหล็กเกรดพิเศษในกลุ่มยานยนต์เติบโต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม