Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 สิงหาคม 2559

การค้า

การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ครึ่งหลังปี 2559 พลิกกลับมาเป็นบวก 1.6% ... ดันทั้งปีขยายตัว 0.2% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2760)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้มีเพียงสหรัฐฯ ที่ฉายภาพแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุด GDP ไตรมาส 2/2559 (รายงานครั้งแรก) เติบโตร้อยละ 1.2 (QoQ, SAAR) แม้ว่าจะน้อยกว่าที่ตลาดคาดแต่ก็ขยับขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 (QoQ, SAAR) โดยมีภาคการบริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมีผลกลับมายังการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2559 ให้เติบโตร้อยละ 0.6 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 3.2 (YoY) ในไตรมาส 1/2559

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าไทย 4 กลุ่มที่ตอบโจทย์ตลาดสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยที่ไปสหรัฐฯ จะเป็นแกนนำผลักดันการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ให้มีแนวโน้มเติบโตในช่วงที่เหลือของปี 2559 ได้แก่ 1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสามารถทำตลาดในสหรัฐฯ ได้ดี 2) สินค้าเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ไทยตามการบริโภคของสหรัฐฯ แต่ต้องเตรียมปรับตัวเพราะคู่แข่งก็มีกำลังการผลิตเร่งตัวขึ้นเช่นกัน 3) สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ได้สิทธิ GSP ยังมีแต้มต่อในการทำตลาดได้อีก 1 ปี และ 4) สินค้าอาหารทะเลมีปัจจัยบวก 2 ทางทั้งจากการผลิตของไทยที่ฟื้นตัวและจากการปรับสถานะของประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็น Tier 2 (Watch List) ซึ่งช่วยให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น

ขณะที่สินค้าบางรายการของไทยที่ลดลงตามการย้ายฐานการผลิต ฉุดรั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ เติบโตเชื่องช้า อาทิ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งหุ่ม แต่ในภาพรวมแล้ว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากสินค้าแกนหลักอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 มีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 1.6 (YoY) จากพื้นฐานความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ทั้งปี 2559 มูลค่าการส่งออกน่าจะแตะ 24,100 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 มีกรอบประมาณการที่หดตัวร้อยละ 1 ถึงขยายตัวร้อยละ 1 มีมูลค่าระหว่าง 23,800 – 24,300 ล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 อีกทั้งหนุนให้สหรัฐฯ คงครองแชมป์ตลาดอันดับ 1 ของไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทิ้งห่างตลาดจีนและญี่ปุ่นมากขึ้นอีก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า