Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 สิงหาคม 2559

การค้า

คาดส่งออกไทยไป CLMV ครึ่งปีหลัง’59 ฟื้นตัว..... เร่งพัฒนาหนองคายเป็นจุดยุทธศาตร์สนับสนุนการส่งออกผ่านชายแดนไปยังสปป.ลาว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2761)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 สถานการณ์การส่งออกของไทยในภาพรวมยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.6 (YoY) เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ การส่งออกของไทยไปยังตลาดศักยภาพอย่าง CLMV ก็หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 3.8 (YoY) นับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 ปีก่อให้เกิดคำถามถึงศักยภาพของตลาด CLMV ในการจะช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การหดตัวของการส่งออกนี้สะท้อนปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยเชิงวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปัจจัยเชิงโครงสร้างกล่าวคือ การปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2559 นั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเป็นสินค้าหลักสำคัญในการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว สำหรับปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น เกิดจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ที่ทำให้ตลาดภายในประเทศเติบโตขึ้น และดึงดูดให้มีการพัฒนาของภาคการผลิตขึ้นในประเทศ ซึ่งได้กระทบต่ออุปสงค์การนำเข้าสินค้าของไทยบางรายการให้มีทิศทางชะลอลง อาทิ สินค้าประเภทเครื่องดื่มและปูนซีเมนต์ ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ คาดว่าน่าจะคลี่คลายขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ปรับตัวดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกไปยัง CLMV ในปี 2559 จะหดตัวร้อยละ 2.5 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 21,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะต่อไป ยังคงต้องจับตาการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้างไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเดิมต้องพึ่งพิงสินค้าที่ผลิตและส่งออกไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ กระแสการย้ายฐานการผลิตดังกล่าวคงจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของการส่งออกของไทยในตลาดเหล่านี้ในระยะยาว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมตลาด CLMV ในระยะข้างหน้า อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างอันเกิดจากการย้ายฐานการผลิตดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ทว่า หากพิจารณาเป็นรายประเทศ จะพบว่า สปป.ลาว ยังคงเป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของไทย เนื่องจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการผลิตในสปป.ลาว ยังไม่มีความหลากหลายและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมีความคุ้มค่ากว่าการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ ดังนั้น ตลาด สปป.ลาว จังนับเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมีจังหวัดหนองคายเป็นยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนให้การส่งออกให้เติบโตขึ้นผ่านการเป็นศูนย์กลางหน้าด่านการกระจายสินค้าจากฝั่งไทยไปยังนครหลวงเวียงจันทน์และจังหวัดใกล้เคียง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า