Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤศจิกายน 2559

การค้า

จับตาผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ... กระทบการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2560 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2790)

คะแนนเฉลี่ย
จับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่นั้น อาจเผชิญความท้าทายในการทำงานร่วมกับสภาคองเกรสที่เสียงส่วนใหญ่มาจากคนละพรรคการเมือง สะท้อนว่านโยบายการบริหารประเทศจะถูกปรับเป็นลูกผสมระหว่าง 2 ขั้วพรรคการเมือง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกของการบริหารประเทศ มาตรการเศรษฐกิจที่ถูกหยิบมาใช้ก็อาจยังไม่ปรากฏผลสู่เศรษฐกิจได้ชัดเจนนัก ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 จะยังคงมาจากแรงส่งของการบริโภคที่เป็นภาพต่อเนื่องจากปีนี้ โดยในกรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างๆ จะยังคงดำเนินต่อไปและไม่น่าจะฉีกออกจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อาจแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2560 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2559 แต่หากชาวอเมริกันตัดสินใจเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่างไปจากที่เป็นอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยคาดว่าอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 ในปี 2560 และเฟดอาจจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักและเลื่อนกรอบเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป อีกทั้งเงินดอลลาร์ฯ อาจจะอ่อนค่าลงเพราะความกังวลที่ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี กว่าที่นโยบายด้านเศรษฐกิจจะผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส ก็คงจะไม่ง่ายเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 อาจเติบโตที่ร้อยละ 1.3-2.5 หรือมีมูลค่าราว 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 1.3 ในปี 2559 ทั้งนี้ ธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญกับโจทย์ด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีและเตรียมพร้อมสำหรับกรณีสิทธิทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized Scheme of Preferences: GSP) ที่อาจสิ้นสุดลงในปี 2560 นอกจากนี้ คงต้องติดตามและเตรียมรับมือกับผลทางอ้อมผ่านนโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะหันไปปกป้องทางการค้ามากขึ้น หรือแม้แต่ TPP ที่ยังต้องรอดูว่าจะมีบทสรุปแบบใด ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า