นับเป็นสัญญาณที่ดีหลังจากที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC) ให้กับสายการบินพาณิชย์รายแรก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ธุรกิจสายการบินของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศนับตั้งแต่กลางปี 2558 โดยการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนับได้ว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ ทั้งนี้ กพท.คาดว่า จะสามารถออก AOC ใหม่ให้แก่สายการบินหลักจำนวน 9 สายการบินซึ่งมีผู้โดยสารคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 75 ของผู้โดยสารทั้งหมดได้ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเชิญ ICAO มาตรวจสอบเพื่อปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยต่อไป ดังนั้น คาดว่าการแก้ไขปัญหา ICAO และ FAA จะสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในครึ่งแรกของปี 2560 และทำให้ไทยสามารถปลดล็อกจากข้อจำกัดด้านความเชื่อมั่นทางการบินได้สำเร็จในช่วงครึ่งปีหลัง
ส่งผลให้สายการบินของไทยจะสามารถดำเนินการขยายเส้นทางการบินพร้อมทั้งดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยจะทำให้สายการบินของไทยที่เดิมมีแผนขยายเส้นทางการบินไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แต่ต้องชะลอไว้ กลับมาดำเนินการตามแผนขยายเส้นทางการบินเดิมได้ อีกทั้งจะทำให้สามารถกลับมาบินไปยังเส้นทางสหรัฐอเมริกาตามแผนที่ได้วางไว้ได้ ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะสามารถค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่เติบโตดีอยู่แล้ว กระทั่งเติบโตต่อเนื่องไปยังปี 2561 อย่างเต็มศักยภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีมูลค่า 288,700 ล้านบาท และน่าจะแตะ 306,400 ล้านบาท ในปี 2561 หากสามารถแก้ไขปัญหา ICAO และ FAA ได้สำเร็จ เทียบกับในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ที่จะมีมูลค่า 286,200 และ 294,500 ล้านบาทในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ
การปลดล็อกปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางการบินจะเป็นปัจจัยผลักดันเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สำเร็จ ซึ่งสอดรับกับการที่ไทยมีพื้นฐานธุรกิจ
การบินที่เข้มแข็งอยู่เดิมจากจุดแข็งสำคัญคือ สายการบินของไทยมีโครงข่ายเส้นทางการบินที่เชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม โดยการเป็นศูนย์กลางทางการบินดังกล่าว จะสะท้อนไปยังภาพรวมอุตสาหกรรมการบินทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul: MRO) ให้ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่ภาครัฐได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น