Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มีนาคม 2560

อุตสาหกรรม

รถยนต์ระบบอัจฉริยะดันความต้องการใช้เซ็นเซอร์รถยนต์ในไทยปี '60 พุ่งมากกว่า 26,000 ล้านบาท ... โอกาสต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในอนาคต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2835)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในยานยนต์ไปสู่โหมดการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่ จะเป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ความต้องการใช้เซ็นเซอร์เพื่อเป็นชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์เติบโตสูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 2560 ความต้องการใช้เซ็นเซอร์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยน่าจะมีสูงถึงราว 112.3 ล้านชิ้น ขยายตัวราวร้อยละ 13.1 จากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้อยู่ที่ 99.2 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 26,950 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 8.6 จากปี 2559 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 24,810 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าเซ็นเซอร์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย เนื่องจากเซ็นเซอร์ในรถยนต์จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพราะต้องการความแม่นยำและความละเอียดในการผลิตสูง ขณะเดียวกัน บริษัทที่ผลิตเซ็นเซอร์ในไทยโดยส่วนใหญ่มักทำการผลิตเซ็นเซอร์รถยนต์ที่มีเทคโนโลยีระดับปานกลาง หรือมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ไม่ซับซ้อนสูงมากนัก จึงทำให้สามารถรองรับกับความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ได้บางส่วน

จากการที่ไทยยังมีความต้องการใช้เซ็นเซอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เซ็นเซอร์ที่ผลิตได้ในไทย ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั้งหมดได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะเป็นโอกาสที่จะเอื้อให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะสัญชาติญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนผลิตเซ็นเซอร์รถยนต์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงในไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อทดแทนการนำเข้า รวมถึงเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศผู้ผลิตรถยนต์สำคัญอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ แรงผลักดันหลักที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตเซ็นเซอร์รถยนต์ในไทยมากขึ้นนั้น มีอยู่ 3 ประการ คือ

  1. การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในรถยนต์ไปสู่ความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด จึงน่าจะส่งผลให้มีความต้องการใช้เซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
  2. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีผลิตเซ็นเซอร์รถยนต์ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบัน มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ราวร้อยละ 30 ในขณะที่ไทยมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเซ็นเซอร์รถยนต์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงไม่น้อยกว่า 8 ปี
  3. ​การพัฒนาและต่อยอดพื้นฐานแรงงานไทยที่มีทักษะและความละเอียดอ่อนไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ขั้นสูงในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม