Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2560

การค้า

มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ … สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ 1 ใน 5 อ่อนไหวต่อมาตรการนี้ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2840)

คะแนนเฉลี่ย
ก้าวแรกของการจัดการการขาดดุลการค้าที่เรื้อรังของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นแล้วนับจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามใน Executive Orders 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งในรายชื่อ 16 ประเทศที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งเพราะขาดดุลการค้าเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2559 (ไทยอยู่ในลำดับที่ 11) โดยหลังจากนี้อีก 90 วัน คงจะมีความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างไร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลดการนำเข้าผ่านการกีดกันทางการค้าอย่างสุดโต่งไม่น่าจะเป็นทางเลือกเชิงนโยบายลำดับแรกๆ สำหรับสหรัฐฯ ที่ครัวเรือนพึ่งพาสินค้านำเข้าในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษี Border Adjustment Tax (BAT) ที่คงต้องเผชิญแรงต้านทานภายในพอสมควร ดังนั้น แนวทางที่สหรัฐฯ อาจจะหยิบยกขึ้นมาดำเนินการคือ การเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศคู่ค้า ผ่านการออกมาตรการทางการค้าในลักษณะเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศและรายสินค้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด/มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Anti-dumping Duties/Countervailing Duties) หรือแม้แต่การตัดสิทธิ GSP ก็อยู่ในวิสัยที่กระทำได้ หรือรวมไปถึงการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอากรต่างๆ
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า มีรายการสินค้าส่งออกราว 1 ใน 5 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 5,039 ล้านดอลลาร์ฯ ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวซึ่งผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่โดน AD/CVD และสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP ในปัจจุบัน เพราะมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันหรือทบทวนเพิ่มเติม โดยขนาดผลกระทบคงจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมาตรการที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
นอกจากผลกระทบทางตรงข้างต้นแล้ว สินค้าส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีนและญี่ปุ่น หากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการทางการค้ากับทั้งสองประเทศด้วย โดยสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ที่ไทยส่งออกไปทั้งสองประเทศดังกล่าว ก็คงจะเผชิญความท้าทายตามไปด้วย นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า ต้องติดตามท่าทีของสหรัฐฯ ที่คงจะมีการเจรจาเพื่อให้ไทยเปิดตลาดให้กับสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งก็อาจส่งผลให้ตลาดในประเทศเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดสหรัฐฯ ในปี 2560 น่าจะยังสะท้อนภาพบวกอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วง 2 เดือนแรกของปี การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 7.6 (YoY) โดยกว่าที่นโยบายของสหรัฐฯ จะระบุขอบข่ายการบังคับใช้อย่างชัดเจน น่าจะเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นต้นไป จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 แต่ผลที่เกิดขึ้นหากสหรัฐฯ นำมาตรการทางการค้ามาใช้น่าจะกระทบการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2561

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า