Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 พฤษภาคม 2560

อุตสาหกรรม

มาตรการลดเกลือ ... โอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2847)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบัน คนไทยบริโภคเกลือต่อวันมากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า ส่งผลให้กลไกในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมากตามมา
ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการนำมาตรการปรับสูตรอาหารมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ และอาจออกกฎหมายควบคุมปริมาณเกลือที่เหมาะสมในอาหารแต่ละชนิด รวมถึงการเก็บภาษีการใช้เกลือเกินปริมาณที่เหมาะสมในระยะต่อไป ซึ่งจากประสบการณ์ต่างประเทศพบว่า การปรับสูตรอาหารเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและสามารถลดปริมาณการบริโภคเกลือของประชาชนได้ นอกจากนี้ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคควรดำเนินการเป็นชุดของมาตรการตั้งแต่การให้ความรู้แก่ประชาชนไปจนถึงการออกกฎหมายควบคุมการผลิตของผู้ประกอบการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากมีการปรับสูตรอาหารด้วยการลดปริมาณการใช้เกลือลงร้อยละ 10 น่าจะมีผลทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตอาหารที่มีการใช้เกลือในปริมาณสูงของไทยเพิ่มขึ้นจากการใช้สารทดแทนเกลือประมาณร้อยละ 1.4 ต่อปี หรือคิดเป็น 1,500 ล้านบาทต่อปีจากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมอาหารที่มีเกลือสูงที่มีมูลค่ามากกว่า 107,000 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ดี จากกระแสใส่ใจสุขภาพ ผนวกกับความจำเป็นในการรับประทานอาหารที่มีเกลือน้อยของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง น่าจะเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีการลดปริมาณเกลือหรือใช้เกลือปริมาณน้อยออกสู่ตลาด ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้ว ยังสอดรับกับมาตรการควบคุมการบริโภคเกลือของภาครัฐ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม