ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำการสำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2560 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.4 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่าไม่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 24.6 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯ เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 นี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคเหนือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.5 รองลงมา คือ ภาคตะวันออก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.9 ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่เมื่อพิจารณาเมืองท่องเที่ยวที่กลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ ซึ่งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ ขณะที่รองลงมา คือ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย และภูเก็ต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สอบถามถึงอิทธิพลของสื่อออนไลน์ที่มีต่อการท่องเที่ยวในกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 พบว่า Facebook เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด รองลงมา คือ Instagram และเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวผ่านสังคมออนไลน์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 77.0 ตอบว่ามีการแชร์รูปท่องเที่ยวในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวผ่านสังคมออนไลน์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.0 ตอบว่าไม่แชร์รูปท่องเที่ยวในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวผ่านสังคมออนไลน์
โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 คนกรุงเทพฯ ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 ครั้ง (ทริป) โดยมีจำนวนวันพักค้างเฉลี่ยต่อทริป 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณทริปละ 4 คน ขณะที่ค่าใช้จ่ายกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 6,450 บาทต่อคนต่อทริป อย่างไรก็ดี ในกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยเครื่องบินและการเช่ารถยนต์เพื่อการเดินทางในเมืองท่องเที่ยวจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากผลสำรวจที่สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น กอปรกับบรรยากาศในประเทศ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว น่าจะเป็นแรงบวกที่ดีต่อทิศทางการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 นี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่า 46,450 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี แม้การท่องเที่ยวในประเทศจะยังมีแนวโน้มที่เติบโตดี แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีการแข่งขันที่รุนแรง จากการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ ในพื้นที่ และการกระจายตัวของการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจคงจะต้องปรับตัวรองรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างการนำเทคโนโลยีมามาช่วยเป็นเครื่องมือในการทำตลาด เป็นต้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น