Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กุมภาพันธ์ 2548

อุตสาหกรรม

ไทยรับมือการแข่งขัน & กีดกันการค้า ... หลังยกเลิกโควตาสิ่งทอ

คะแนนเฉลี่ย

การเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของ WTO อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ทำให้ประเทศสมาชิก WTO ทั้งหลายต้องแข่งขันมากขึ้นในตลาดสิ่งทอโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่อุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสำคัญโดยก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และนำรายได้จากการส่งออกเข้าสู่ประเทศ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีต้นทุนค่าแรงงานต่ำ มีศักยภาพการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีวัตถุดิบในประเทศอย่างจีน และอินเดีย อีกทั้งต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่นำกฎระเบียบ/เงื่อนไขต่างๆ เป็นเงื่อนไขทางการค้าทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การเปิดเสรีโควตาสิ่งทอภายใต้ WTO ทำให้กระแสการแข่งขันในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเข้มข้นขึ้นมาก เพราะจากเดิมในระบบโควตาที่สินค้าส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีหลักประกันทั้ง เรื่องตลาดส่งออกและปริมาณส่งออกที่แน่นอน แต่หลังจากการเปิดเสรีโควตาแล้ว ประเทศสมาชิก WTO ที่มีศักยภาพทางการแข่งขันสามารถส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณส่งออกอีกต่อไป ดังนั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ซึ่งในแต่ละขั้นการผลิตจะต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขัน ดังนี้

อุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิต เส้นใยสังเคราะห์ อุตสาหกรรมปั่นด้าย และอุตสาหกรรมทอผ้า/ถักผ้า เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมขั้นปลาย ยังสามารถแข่งขันได้ดี และได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศในเอเชียสามารถส่งออกและต้องการใช้เครื่องนุ่งห่มมากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนยังคงต้องการสินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการที่ไทยทำเขตการค้าเสรี FTA กับจีน และอินเดีย เป็นการขจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรการส่งออกเส้นใยและผ้าผืนของไทยไปสองประเทศดังกล่าว ทำให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศนี้มีความต้องการเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนมากเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ ไทยอาจเน้นการพัฒนาวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าและ ขายให้กับประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มที่กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรายหลักของโลก เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ

อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก (labor Intensive) น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าสิ่งทอมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะต้องเผชิญกับการ แข่งขันส่งออกกับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่น จีนและอินเดีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันมาก อีกทั้งส่วนแบ่งตลาด ส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอ คาดว่าประเทศผู้นำเข้าสิ่งทอรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคงไม่ต้องการ พึ่งพาการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปอย่างมากจากประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว โดยเฉพาะจีนซึ่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยอย่างมาก ดังนั้น ไทย น่าจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลกไว้ได้

ดังนั้น โดยภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยยังคงสามารถแข่งขันได้ แม้จะต้องเผชิญการแข่งขันรอบด้าน แต่ไทยควรปรับตัวโดยหันไปผลิตสินค้าที่เป็นสินค้าแฟชั่น พัฒนาสินค้าแบรนด์เนมของตนเอง หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่า แรงงานต่ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในแต่ละขั้นตอนการผลิตให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์ นอกจากนี้ ควรพัฒนาคุณภาพการผลิต เพื่อเจาะตลาดส่งออกระดับกลางและตลาดบนที่มีอำนาจซื้อสูง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม