Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มีนาคม 2548

การค้า

ลดการขาดดุลการค้า : บุกตลาดส่งออกใหม่ของไทย

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในรอบปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้น 22% นับเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ในปี 2547 การส่งออกได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในปี 2546 เป็น 5% ในปี 2547 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน เติบโตต่อเนื่องเช่นกัน ความต้องการภายในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ทางด้านการนำเข้าของไทยในปี 2547 เพิ่มขึ้นถึง 26.6% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าของไทยเกินดุลลดลง 45.9% เป็น 2,723.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2546 ที่เกินดุลการค้า 5,034.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับในเดือนมกราคม 2548 ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้น 33.54% เป็นมูลค่า 9,217.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 10.87% มูลค่า 7,876.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2548 ขาดดุลเป็นเดือนแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 โดยมียอดขาดดุลการค้า 1,341 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าดุลการค้าของไทยทั้งปี 2548 มีแนวโน้ม ขาดดุลเช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเข้าของไทยเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ทั้งตลาดหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ตลาดที่ไทยจัดทำ FTA ได้แก่ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีกำหนดการเริ่มต้นการลดภาษีภายใต้ข้อตกลง FTA อย่างเป็นทางการปี 2548 (ไทยกับจีนและอินเดียได้เริ่มต้นลดภาษีสินค้ากลุ่มเร่งลดภาษี - Early Harvest Scheme - ภายใต้ FTA ทวิภาคีไปก่อนหน้านี้แล้ว) และตลาดใหม่นอก ภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ดังนั้น การลดปัญหาการขาดดุลการค้าของไทยจึงต้องเน้นการขยายตัวของสินค้าส่งออกไทยสู่ตลาดต่างประเทศควบคู่กับการบริหารการนำเข้าให้มีประสิทธิภาพ สินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากขณะนี้เป็นสินค้าทุนและ วัตถุดิบที่ใช้สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันในราคาสูงขึ้นมาก และทำให้มูลค่านำเข้าโดยรวมของไทยเพิ่มสูงขึ้นมากตามมา โดยในเดือนมกราคม 2548 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นถึง 76% จาก 686.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2547 เป็น 1,209 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การที่ภาครัฐเตรียมจัดทำยุทธศาสตร์การนำเข้าโดยพยายามเน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก และนำเข้าเฉพาะสินค้าจำเป็นบางประเภทที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศเท่านั้น เป็นมาตรการซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าได้ นอกจากนี้ รัฐบาลก็ควรจะปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว เพื่อลดการใช้น้ำมันลงและในขณะเดียวกันก็ควรรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างประหยัดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ด้านการส่งออก จากกการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้ซื้อต่างประเทศ แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียซึ่งค่าเงินแข็งขึ้นเช่นกัน ทำให้สินค้าส่งออกไทยไม่ได้รับผลกระทบด้านขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นๆ มากนัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปี 2548 ที่มีความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน แนวโน้มที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น มาตรการกีดกันการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว และต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย

ดังนั้นตลาดที่ไทยจัดทำเขตการค้าเสรี FTA คือ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงตลาดอื่นๆที่ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA จึงถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าส่งออกของไทยที่จะเข้าไปแข่งขันได้มากขึ้น จากการลดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลง รวมทั้งลดอุปสรรคจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี นอกจากนี้ ตลาดใหม่นอกภูมิภาคที่น่าจับตาอย่างแอฟริกา ละตินอเมริกา และตะวันออกกลางที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไปตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จะเป็นตลาดส่งออกที่มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งตลาดใหม่ดังกล่าวมีข้อดี คือ ไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างประเทศพัฒนาแล้ว และถือเป็นการกระจายตลาดส่งออกของไทยให้มีความหลากหลายมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆ โดยหวังว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับจากช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนราว 37.5 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2540 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% ของ GDP ในปัจจุบัน จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้าลงได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า