Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มีนาคม 2548

การค้า

การส่งออกที่อาจชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด ... อาจซ้ำเติมภาวะการขาดดุลการค้าปี 2548

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่สถานะการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 สะท้อนการชะลอตัวของภาคการส่งออกของไทยอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด การส่งออกมีมูลค่า 15,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 22 ในปี 2547 โดยที่การส่งออกของไทยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงมาเป็นลำดับในอัตราร้อยละ 16.8 ในเดือนธันวาคม ร้อยละ 10.9 ในเดือนมกราคม และร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ในทางกลับกัน การนำเข้ายังคงเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 17,488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.8 สูงขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 26.6 ในปี 2547 ทำให้ในช่วงระยะ 2 เดือนแรกของปี 2548 ไทยขาดดุลการค้าแล้วเป็นมูลค่าถึง 1,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าหลายฝ่ายได้ให้ความกังวลต่อสถานการณ์การนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การชะลอตัวของภาคการส่งออกจะเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า เนื่องจากในด้านการนำเข้านั้น ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวไม่น่าจะมีกำลังแรงเพียงพอที่จะผลักดันให้การนำเข้าขยายตัวในระดับปัจจุบันได้ต่อเนื่องยาวนาน การนำเข้าจึงน่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงเวลาที่เหลือของปี นอกจากนี้ความพยายามที่จะลดสัดส่วนการนำเข้าของอุตสาหกรรมไทยคงไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ในระยะสั้น ด้วยเหตุนี้ การหาแนวทางแก้ไขอุปสรรคและปัญหาในภาคการส่งออกจึงน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อฐานะดุลการค้าในปี 2548 ได้

จากการประเมินสถานะการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกนี้ กล่าวได้ว่าการชะลอตัวของการส่งออกของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยในเดือนกุมภาพันธ์ การส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 5.4 ขณะที่จากตัวเลขเบื้องต้น คาดว่าการส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกขยายตัวประมาณร้อยละ 4 ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมไอที แต่นอกจากปัญหาที่ประเทศในภูมิภาคเผชิญร่วมกันแล้ว ก็ยังมีปัญหาเฉพาะตัวของประเทศไทยด้วย สินค้าส่งออกของไทยมีการชะลอตัวอย่างมากในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นที่สังเกตได้ว่าสาเหตุปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัว หลายปัจจัยอาจอยู่นอกเหนือความสามารถที่จะควบคุมได้ เช่น ปัญหาผลผลิตขาดแคลนในภาคการเกษตร การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หรือวัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการส่งออกชะลอตัวนั้น ในส่วนหนึ่งอาจจำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของภาครัฐเพื่อขจัดหรือบรรเทาอุปสรรคในส่วนของสินค้าที่มีปัญหา โดยดำเนินการเป็นรายสินค้า นอกจากนี้ สังเกตได้ว่ายังมีสินค้าหลายประเภทและตลาดบางตลาดที่แนวโน้มตลาดค่อนข้างดี ซึ่งต้องเร่งผลักดันสินค้ากลุ่มที่มีแนวโน้มดีนี้เพื่อชดเชยกลุ่มที่มีปัญหา รวมทั้งในภาวะที่กลุ่มประเทศตลาดหลักชะลอตัว ควรเร่งขยายการส่งออกในตลาดรองที่มีศักยภาพสูง และกระตุ้นให้ผู้ส่งออกขยายการส่งออกภายใต้สิทธิเอฟทีเออย่างกว้างขวางมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีน่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น จากสินค้าประมงและปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มตลาดดีขึ้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการยังมีการขยายตัวในเกณฑ์ดี รวมทั้งความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าปรับตัวจะกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นส่วนที่ลดผลกระทบจากปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีราคาสินค้าส่งออกยังปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงสูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งโดยรวมแล้วน่าจะส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2548 สามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 12 สำหรับแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าของไทยในรูปดอลลาร์มีราคาสูงขึ้นบ้าง อีกทั้งด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบ จึงเป็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่งต่อผู้ประกอบการไทยที่จะต้องหาแนวทางบริหารต้นทุนและราคาสินค้าให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า