Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2548

อุตสาหกรรม

อิเล็กทรอนิกส์ปี' 48 : เข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญในแง่ของการส่งออกของประเทศมาก โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ ในปี 2547 การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีมูลค่ารวม 19,689.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 790,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จากปี 2546 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมีการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเป็นอันดับสองของโลกและมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 67 ของการส่งออกรวมของโลก อย่างไรก็ตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น มีแนวโน้มที่จะเติบโตสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก นั้นหมายถึงหากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ในปี 2548 เริ่มชะลอตัวอันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันที่กระทบไปทั่วโลก ย่อมส่งผลทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยเริ่มชะลอตัวลงด้วย หลังจากที่ในปี 2547 ที่ผ่านมานั้น การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก สำหรับแนวโน้มของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2548 นั้น คาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่มีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าปี 2547 ที่ผ่านมา โดยที่ยังคงเน้นความสำคัญของภาคการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงหลายประกายบ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอตัวดังนี้

ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ในปี 2548 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 ลดลงจากร้อยละ 4.6 ในปี 2547 ที่ผ่านมา
  • การส่งออกชะลอตัวลง เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในปี 2548 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 20,670 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 5 โดยมีที่การส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวมากในขณะที่สินค้าประเภทเซมิคอนดักเตอร์นั้นยังมีแนวโน้มการขยายตัวไม่สูงมากนัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่เห็นสัญญาณการขยายตัวสูงเหมือนดังเช่นในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในปี 2548 นั้นจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2547 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์การตลาดที่เปลี่ยนแปลงตามปัจจัยลบทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาน้ำมันที่แกว่งตัวอยู่ในระดับสูง ความต้องการสินค้าไอทีในตลาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ปรับตัวลดลงหรือการขยายตัวของสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตรุ่นใหม่ที่พึ่งพิงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันแนวโน้มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระยะปานกลางและระยะยาวนั้น ไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น ความผันผวนของค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต การปรับตัวของผู้ประกอบการในประเทศ และภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างมากเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความสำคัญโดยมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ซึ่งทำให้ภาครัฐควรเร่งขจัดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาวด้วย เพราะปัจจุบันแม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยจะมีการพัฒนามานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงการผลิตให้ครบวงจรตั้งแต่สินค้าต้นน้ำจนถึงสินค้าปลายน้ำ สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรและโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ยังเป็นปัญหาต่อการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตไทยทำให้ไม่ทัดเทียมกับผู้ผลิตในต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับที่สูงขึ้นโดยเฉพาะบุคลากรด้านการออกแบบแผงวงจรไฟฟ้า เพื่อให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

อุตสาหกรรม