Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มิถุนายน 2548

เกษตรกรรม

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปี'48 : มูลค่าตลาด 48,000 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในตลาดโลก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือ การเปิดแนวรุกในด้านส่งเสริมการจำหน่ายของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มากยิ่งขึ้น การสร้างภาพลักษณ์ในด้านบวกให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพร และกระแสการบริโภคสินค้าธรรมชาติและสินค้าปลอดสารพิษ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคยอมรับและมีความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทยผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็เป็นที่ยอมรับและมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน โดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในธุรกิจต่างๆทั้งในลักษณะของอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางสมุนไพร นวดและอบตัวด้วยสมุนไพร ไปจนถึงการรับประทานเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาสมุนไพรก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเทศและสมุนไพรเหล่านี้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ตลาดเปิดกว้างในการเข้ามาลงทุน และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-30 เนื่องจากความนิยมในการบริโภคและใช้สมุนไพรไทยที่แพร่หลายนั่นเอง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ "พฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร" จากกลุ่มตัวอย่าง 3,294 คน โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศ กระจายกลุ่มตัวอย่างแยกรายภาค คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2548 มีมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากพฤติกรรมการบริโภคทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ มูลค่าตลาดรวมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศยังคงขยายตัว อันเป็นผลมาจากความนิยมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสอดรับกับกระแสนิยมผลิตภัณฑ์อิงธรรมชาติ รวมทั้งกระแสการรักษาสุขภาพเชิงป้องกันโดยการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณป้องกันและเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งนับเป็นกระแสที่กำลังมาแรงทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรปี 2548
: ล้านบาท
กรุงเทพฯและปริมณฑล
ภาคกลาง
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคใต้
รวม
อาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพร
3,360
1,550
1,960
2,000
820
9,690
ยาสมุนไพร
2,700
1,950
1,370
1,990
800
8,810
เครื่องสำอางจากสมุนไพร
3,200
2,850
2,200
2,090
850
11,190
เครื่องดื่มสมุนไพร
2,500
2,300
1,600
2,050
920
9,370
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับการนวด/อบ/ประคบ
2,200
2,000
1,280
2,080
900
8,460
รวม
13,960
10,650
8,410
10,210
4,290
47,520

ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดส่งออกก็มาแรงเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าในการส่งออกจะเป็นเพียงแต่การส่งออกเครื่องเทศ สมุนไพร และสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2548 จะมีประมาณ 1,560 ล้านบาทเท่านั้น แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังแฝงอยู่ในสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายประเภท รวมทั้งการที่ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีการขยายกิจการมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารหลากหลายประเภทโดยเฉพาะเครื่องแกงสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ธุรกิจนวดแผนโบราณและธุรกิจสปา ซึ่งความนิยมในเรื่องการนวดแผนโบราณและสปาต้องมีการใช้ลูกประคบ และน้ำมันหอมระเหยที่ทำจากสมุนไพรนานาชนิด เครื่องสำอางจากสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้ไม่น้อยในแต่ละปี และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงนับว่าเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรซึ่งในแต่ละปีไทยพึ่งพาการนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และมีการนำเข้าเพื่อใช้ในธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารต่างประเทศ รวมทั้งร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าสารสกัดจากสมุนไพรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งในส่วนนี้สารสกัดจากสมุนไพรบางประเภทนั้นใช้วัตถุดิบที่ไทยสามารถผลิตเองได้ เพียงแต่ยังไม่มีการค้นคว้าวิจัยและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยเพียงพอสำหรับการผลิตออกมาเป็นสารสกัดจากสมุนไพร ดังนั้นแนวทางที่จะลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรได้บางส่วนคือ การส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อผลิตสารสกัดจากสมุนไพรใช้เองในประเทศ

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาการผลิตเครื่องเทศและสมุนไพรที่มีคุณภาพในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งในด้านวัตถุดิบ การวิจัย ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสู่สากล รวมทั้งส่งเสริมการตลาดทั้งในและนอกประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าตลอดจนมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสมุนไพรของเอเชียในอนาคต รวมทั้งการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบวงจรและประกาศนโยบายเพื่อดำเนินการเชิงรุกวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเครื่องเทศและสมุนไพรไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

สำหรับทางภาคเอกชนมีการเสนอ"ยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมสมุนไพร" เนื่องจากเล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยนับว่ายังมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลกที่สูงถึงปีละ 4.4 ล้านล้านบาท ทั้งที่ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีพืชสมุนไพรที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบมากกว่า 13,000 ชนิด แต่ในปัจจุบันมีสมุนไพรไทยที่จัดอยู่ในบัญชีมาตรฐานเภสัชกรรมเพียง 21 ชนิด และมีการนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพียง 5-6 ชนิดเท่านั้น ดังนั้นตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยังเปิดกว้างสำหรับการเข้ามาลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางภาคเอกชนมีข้อเสนอให้ทางรัฐบาลปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย สนับสนุนการวิจัยเชิงลึกในการนำพืชสมุนไพรมาใช้อย่างจริงจังด้วยความร่วมมือของภาครัฐและสถาบันการศึกษาเพื่อถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป และสร้างตรายี่ห้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก

นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย คาดว่าเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2548 นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาสมุนไพรไทย และส่งเสริมผู้ประกอบการในตลาดให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งเป็นหน่วยงานที่ช่วยประสานความร่วมมือกับภาครัฐบาลในการสนับสนุนด้านการตลาด ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาการผลิต

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว และมีโอกาสที่ไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเอเชีย และมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากไทยมีปัจจัยหนุนในเรื่องความหลากหลายของวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยังต้องการแรงผลักดันทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การวิจัยความต้องการของตลาด การส่งเสริมการปลูกในเชิงพาณิชย์ กระบวนการผลิตที่ทันสมัย และการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศรับรู้ถึงสรรพคุณอันเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย รวมไปถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นงานวิจัยอ้างอิงถึงสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม