Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มิถุนายน 2548

เกษตรกรรม

ส่งออกกุ้งไทยปี'48 : ผลกระทบจากอียูเลื่อนการคืนจีเอสพี

คะแนนเฉลี่ย

สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลล์ ได้แจ้งว่าในการประชุมคณะทูตผู้แทนถาวรของสหภาพยุโรป(COREPER) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2548 มีการเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ระเบียบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีโครงการใหม่ปี 2549-2558 ออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2549 จากกำหนดเดิมที่เคยประกาศไว้ 1 กรกฎาคม 2548 และในวันที่ 27 มิถุนายน 2548 คณะทำงานของอียูที่พิจารณาเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาจะคืนสิทธิพิเศษจีเอสพีให้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดียและไทยจะคืนสิทธิพิเศษจีเอสพีให้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2549 การที่คณะกรรมาธิการยุโรปยืนมติเลื่อนการคืนสิทธิจีเอสพีออกไปส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย ความหวังของผู้ส่งออกกุ้งที่จะได้โอกาสในการส่งออกไปยังตลาดอียูมาชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ลดลงอันเป็นผลจากการถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดก็หมดไปด้วย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าผลกระทบจากการที่อียูเลื่อนการคืนสิทธิจีเอสพีไปเป็นต้นปี 2549 และการที่สหรัฐฯจะมีการพิจารณาทบทวนการงดการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นการชั่วคราวในช่วงเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯจะพิจารณางดการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นการชั่วคราวแต่ก็ไม่น่าจะทันกับที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่ประเทศต่างๆจะมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้ง เท่ากับว่าในปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไม่มีปัจจัยที่จะมากระตุ้นการส่งออกตามที่เคยมีการคาดหมายกันไว้ในช่วงต้นปี กอปรกับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและอียู ทำให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดเหล่านี้ลดลงทุกตลาด คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2548 เท่ากับ 1,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วลดลงร้อยละ 21.9 จากที่เคยมีการคาดการณ์มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในช่วงต้นปี 2548 ว่าจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งได้เท่ากับ 1,803 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ดังนั้นเท่ากับว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในปี 2548 นี้หายไปถึง 523 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการแข่งขันในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในตลาดส่งออกหลัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่น ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากคู่แข่งขันรายเดิมและรายใหม่ที่หันมาเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออก ดังนั้นทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์กุ้งต้องเร่งปรับประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทยลดลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ากุ้งมีทางเลือกในการนำเข้ามากขึ้น ดังนั้นจึงพิจารณาถึงราคาเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการนำเข้า นอกจากนี้ต้องเร่งเจาะขยายตลาดโดยการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละตลาดเพื่อหาทางผลิตผลิตภัณฑ์กุ้งให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยตลาดที่น่าสนใจ คือ แคนาดา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมไปถึงประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังประเทศเหล่านี้บ้างแล้วแต่ยังมีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนัก ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งขยายตัว ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศอยู่รอด เนื่องจากปริมาณการส่งออกกุ้งนั้นคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตกุ้งทั้งหมด ส่วนการกระตุ้นการบริโภคกุ้งในประเทศให้เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลให้ราคากุ้งภายในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นได้บ้าง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม