Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2548

เกษตรกรรม

ธุรกิจยาง : อีก 5 ปีข้างหน้าไม่น่าห่วง ... แต่ต้องเตรียมรับมือหลังจากปี 2552

คะแนนเฉลี่ย

ยางเป็นสินค้าเกษตรดาวเด่นมาตั้งแต่ปี 2547 และคาดว่ายางจะยังคงมีบทบาทที่โดดเด่นต่อไปจนถึงปี 2552 เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคายางธรรมชาติจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องไปอีก 5 ปี อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตยางนั้นจะเติบโตไม่ทันกับความต้องการใช้ยางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กอปรกับภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้การหันไปใช้ยางสังเคราะห์ทดแทนนั้นทำได้ยาก เนื่องจากราคายางสังเคราะห์ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักวิเคราะห์ตลาดยางต่างคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของความต้องการยางธรรมชาติจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าความต้องการใช้ยางสังเคราะห์

นักวิเคราะห์ยางในตลาดโลกคาดการณ์ว่าผลผลิตยางธรรมชาติในตลาดโลกจะไม่สามารถเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 ล้านตันก่อนปี 2555 ถ้าประเทศผู้ผลิตยางรายสำคัญของโลกไม่มีนโยบายเร่งรัดขยายการผลิต ในขณะที่ความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 ล้านตันในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า โดยคาดหมายว่าความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.7 ในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2552 ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติจะต่ำกว่าความต้องการยางในตลาดโลกถึง 0.23 ล้านตัน และภาวะการขาดแคลนยางธรรมชาติจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้คาดการณ์ว่าอนาคตราคายางธรรมชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ปริมาณการผลิตและความต้องการยางในตลาดโลก
: พันตัน
2547
2548*
2552*
การผลิต
8,410

(5.3%)
8,780

(4.4%)
10,000

(เฉลี่ย 4.0%ต่อปี )
ความต้องการใช้
8,230

(3.5%)
8,690

(5.6%)
10,230

(เฉลี่ย 3.7%ต่อปี)
ความแตกต่างระหว่างผลผลิตและความต้องการใช้
180
90
-230

ที่มา : *รวบรวมการคาดการณ์จากการวิเคราะห์ตลาดยางโลก

หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

คาดการณ์ว่าในปี 2552 หรือในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะมีสวนยางที่เปิดกรีดใหม่เพิ่มขึ้นอีกมาก สำหรับประเทศที่น่าจับตามองว่ามีการขยายพื้นที่ปลูกยางอย่างมาก คือไทย จีน และเวียดนาม นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังมีการเข้าไปลงทุนปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งประเทศลาวนับว่าเป็นประเทศที่มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนขยายพื้นที่ปลูกยางมากที่สุด ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการขยายเนื้อที่ปลูกยาง เนื่องจากแรงจูงใจในเรื่องราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง แต่เมื่อมาพิจารณาอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ยางแล้ว มีหลากหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางวงล้อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญของยาง คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างๆไม่น่าจะเติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นในช่วงระยะปี 2547-2552 โดยอัตราการขยายตัวน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้นจึงน่าจะมีแนวโน้มว่าภาวะการขาดแคลนยางจะลดความรุนแรงลง และในที่สุดอาจจะเกิดปัญหาผลผลิตยางล้นตลาด ทำให้ราคายางกลับมาสู่วัฎจักรราคาตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นสัญญาณเตือนที่บรรดาประเทศผู้ผลิตยางต้องระมัดระวัง และต้องเร่งเตรียมรับมือกับภาวะราคายางผันผวน สำหรับรัฐบาลไทยต้องเร่งผลักดันโครงการเมืองยางพารา ซึ่งจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพารา โดยส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป แทนที่การส่งออกในลักษณะวัตถุดิบเช่นในปัจจุบัน จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งผลักดันการดำเนินการบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก เนื่องจากเป็นการจัดตั้งขึ้นโดยประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม