Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 กรกฎาคม 2548

อุตสาหกรรม

เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม : ความพร้อมของประเทศไทย

คะแนนเฉลี่ย

ในวันที่ 1 มกราคม 2549 ประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO จำเป็นต้องเปิดเสรีทางการค้าในด้านต่างๆ ตามข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกัน ซึ่งในที่นี้ได้รวมถึง กิจการโทรคมนาคม ด้วย โดยที่การเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม นั้นมีประเด็นที่สำคัญ คือ มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ มีการสนับสนุนให้มีการแข่งขันทั้งจากผู้ให้บริการในประเทศและต่างประเทศ และการแปรรูป กิจการโทรคมนาคมที่เคยผูกขาดโดยภาครัฐมาเป็นผู้ให้บริการเช่นเดียวผู้ให้บริการเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักของการปฏิรูป คือ เพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการเข้าไปใช้บริการโทรคมนาคมต่างๆ ได้มากขึ้น เพิ่มคุณภาพการให้บริการ และให้ประชาชนมีโอกาสเข้าไปใช้บริการได้มากขึ้น สำหรับเป้าหมายรองลงมา คือ การให้ประโยชน์กับสังคม ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เพราะหากมีระบบหรือบริการที่ทั่วถึงในราคาที่เหมาะสมและทันสมัยแล้ว จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมได้รวมทั้งสามารถดึงดูดการลงทุนจากภายนอกประเทศและเพิ่มศักยภาพของประเทศในการก้าวเข้าไปสู่การแข่งขันได้ทั่วโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาความพร้อมของไทยตามกรอบการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม ดังนี้

1) การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระ หรือการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ได้แล้วเสร็จในวันที่ 1 ตุลาคม อยู่ในระหว่างการวางกรอบนโยบายและทิศทางในการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ การออกแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมปี 2548-2550

2) การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน มาตรการส่งเสริมการแข่งขันที่กำลังดำเนินงาน ได้แก่

- การแปรสัญญาร่วมการงาน เป็นการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาร่วมการงานที่ไม่สอดคล้องกับระบบการแข่งขันเสรี และเพื่อเป็นการเปลี่ยนบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่ให้สัมปทานบริการโทรคมนาคมกับเอกชน หรือการเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) มาเป็นผู้ให้บริการ (operator) แข่งขันการให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาแม้จะมีการเปิดเจรจาแปรสัญญาสัมปทานหลายครั้ง แต่การเจรจายังไม่ประสบผลสำเร็จ

- การเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection) ในการกำหนดให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถใช้/เชื่อมต่อโครงข่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ ณ จุดเชื่อมต่อที่มีความเป็นไปได้ทางเทคนิคของโครงข่ายได้นั้น ยังมีความไม่เท่าเทียมกันของการชำระค่าเชื่อมโครงข่าย และยังไม่มีการนำระบบการจัดเก็บค่าเชื่อมโครงข่ายแบบใหม่มาใช้ คือ ผู้ประกอบการทุกรายต้องรับภาระร่วมกันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งาน

3) การแปรรูปกิจการโทรคมนาคมที่ผูกขาดโดยรัฐให้เป็นเอกชน คือ กสท. และทศท. ได้ต้องเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทเอกชน และการเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) มาเป็นผู้ให้บริการ (operator) ซึ่งในปัจจุบันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งเพื่อเป็นบริษัทแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อคิดเห็นต่อประเด็นการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม ดังนี้
  • ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม ในกรณีที่การแข่งขันกิจการโทรคมนาคมเป็นไปอย่างเสรี ระดับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมจะเป็นเท่าใดนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารอยู่ในระดับใด ในประเด็นการเปิดเสรีภายใต้กรอบข้อตกลงของ WTO นั้นอาจไม่ส่งผลมากนัก เนื่องจากการเปิดเสรีในรอบนี้ยังเป็นเทคโนโลยีเดิมที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว
  • ผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดิมในตลาด การเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบการในตลาดนั้นจะส่งผลให้ภาวะการแข่งขันของตลาดมีความรุนแรงมากยิ่ง ในสภาพการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานของไทยในปัจจุบันมีบริการหลายประเภทที่เข้าสู่ภาวะของตลาดที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง การเพิ่มภาวะการแข่งขันนั้นทำให้ผู้ให้บริการต้องมีการปรับและพัฒนาองค์กร ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการเพื่อรองรับการแข่งขัน อย่างไรก็ตามในการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดของสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น นอกจากนี้จำนวนของผู้ให้บริการจะมีมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับการให้ใบอนุญาตประกอบการที่ได้รับการอนุมัติจาก กทช. ด้วย
  • ผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ ในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่ในตลาดเพิ่มมากขึ้นนั้น ย่อมส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น ผู้ใช้บริการมีทางเลือกและมีความหลากหลายมากกว่าเดิมด้วยอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมมากกว่าที่จะมีจำนวนผู้ให้บริการเพียงน้อยราย

แม้ว่าจะเหลือเวลาของการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมอีกเพียงไม่นานนัก แต่หากย้อนกลับมาดูการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในประเทศแล้ว จะพบว่า ขณะนี้จะอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมในประเทศ (กทช.) รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรสัญญาสัมปทานที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการแข่งขันยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขการสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยก่อนที่จะมีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมตามกรอบขององค์การการค้าโลกอาจไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมากนักในช่วงระยะสั้น เพราะประเภทของกิจการที่ต้องการให้เปิดเสรีนั้นเป็นกิจการที่มีการเติบโตของตลาดน้อยและมีผู้ใช้บริการไม่มาก เช่น บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรเลข โทรสาร และ เทเล็กซ์ ซึ่งประเด็นทางด้านเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐเป็นเรื่องที่ต้องให้น้ำหนักในความสนใจมากกว่า เพราะประเภทกิจการที่มีการเรียกร้องให้เปิดเสรีนั้นเป็นบริการที่มีผู้ใช้บริการมาก เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการ VoIP นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติจากกรอบของWTO ที่กำหนดไว้เพียงร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 49 เป็นต้น แต่ในระยะยาวนั้นการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมน่าจะมีส่วนช่วยให้ไทยได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มการแข่งขันในการให้บริการที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม