Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2548

การค้า

ลดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย : ชะลอขาดดุลการค้าครึ่งปีหลัง 2548

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มการขาดดุลการค้าของไทยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระตุ้นให้ทางการไทยผลักดันการส่งออกกันอย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และดูแลด้านการนำเข้าอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะมาตรการรณรงค์ลดการใช้พลังงาน เพื่อชะลอการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ซึ่งพุ่งขึ้น 85% ในช่วงครึ่งปีแรก 2548 รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยงดใช้สินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศด้วย ล้วนเป็นมาตรการที่ช่วยชะลอการนำเข้าโดยรวมของประเทศ และแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของไทยในระยะต่อไป

สินค้าอุปโภค-บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ทางการไทยควรจัดระเบียบการนำเข้าเพิ่มเติม แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

- สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ สุรา เบียร์ เป็นต้น เป็นสินค้าที่ควรลดการนำเข้าอย่างยิ่ง ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรก 2548 ไทยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบลง 6.9% เหลือมูลค่า 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไทยยังคงนำเข้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 16% มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน

- สินค้านำเข้าภายใต้ข้อตกลง FTA การปรับลดภาษีขาเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลง FTA มีส่วนทำให้สินค้านำเข้าจากประเทศที่จัดทำ FTA กับไทยมีราคาถูกลง จึงมีแนวโน้มที่ไทยจะนำเข้าสินค้าที่ลดภาษีภายใต้กรอบ FTA เพิ่มขึ้น ภาครัฐและผู้ส่งออกไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากกรอบ FTA โดยส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่สัญญาให้มากขึ้นด้วย เพื่อชดเชยยอดการนำเข้าสินค้าภายใต้ FTA จากประเทศคู่สัญญาเช่นกัน

- สินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าบางรายการจากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ เครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ เคมีภัณฑ์ เส้นใยใช้ในการทอ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปสำหรับส่งออกและสำหรับใช้ในประเทศ แต่ก็ควรดูแลจัดการให้มีการนำเข้าอย่างเหมาะสม ป้องกันการนำเข้าเพื่อกักตุนและเก็งกำไร

-สินค้านำเข้าที่คล้ายคลึงกับสินค้าไทย แม้ว่าไทยสามารถผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคได้เองภายในประเทศ แต่ก็ยังปรากฏรายการนำเข้าสินค้าที่คล้ายคลึงกับที่ไทยผลิตได้เอง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง เครื่องประดับอัญมณี เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนมระดับหรูที่มีชื่อเสียงชั้นนำของต่างประเทศ จึงจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะชะลอการนำเข้าอย่างจริงจัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามาตรการที่จะช่วยชะลอการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ อาทิ

1. ส่งเสริมคนไทยใช้ของไทย การรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยปลูกฝังจิตสำนึกของคนไทยตั้งแต่เด็ก เพื่อลดค่านิยมในการใช้ของนอกในหมู่เยาวชนไทย ซึ่งมักจะติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าจำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งน่าจะสามารถลดการนำเข้าลงได้ หากคนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

2. สนับสนุนสินค้าโอท็อป การที่รัฐบาลผลักดันสินค้าโอท็อปจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว จึงควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้สินค้าโอท็อปของท้องถิ่นต่างๆ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ วัตถุประสงค์สำคัญ ก็คือ สินค้าโอท็อปควรเป็นสินค้าที่คนไทยหันมานิยมซื้อใช้สอยกัน และสามารถใช้ทดแทนสินค้านำเข้าได้

3. ผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่มีคุณภาพ ทางการควรสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านการจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและราคาย่อมเยา การแสวงหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และนวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม เพื่อผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสูงขึ้น มีความเป็นสากล พัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าระดับหรู และยกระดับคุณภาพสินค้าไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้คนไทยทั่วไปเชื่อมั่นสินค้าไทยและหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

4. กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า ทางการควรกำหนดคุณสมบัติสินค้านำเข้าอย่างชัดเจน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชาวไทย และป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ อาทิ ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำเข้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ กำหนดให้เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับด้านการประหยัดพลังงาน กำหนดให้เครื่องสำอาง-เครื่องหอมและสบู่ที่นำเข้าต้องมีใบรับรองสุขอนามัย เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า