Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2548

การค้า

FTAไทย-ญี่ปุ่น : เตรียมความพร้อมของไทยต่อการแข่งขันในภูมิภาค

คะแนนเฉลี่ย

แม้ญี่ปุ่นจะยอมรับในหลักการให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นโดยปราศจากอุปสรรคเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins : ROOs) ภายใต้ FTA ไทย-ญี่ปุ่น แต่การเจรจาเรื่อง ROOs ในรายละเอียดเป็นรายสินค้าหลังจากนี้ จะเป็นประเด็นสำคัญที่ชี้ว่า สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ สินค้าประมง ผักและผลไม้กระป๋อง สิ่งทอ แป้งมันสำปะหลังแปรรูป ผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ธัญพืช อาหารสุนัขและแมว จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ FTA ไทย-ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่หรือไม่ ทั้งนี้ ข้อสรุปการเปิดเสรีจากการเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่นมีประเด็นที่น่าสนใจด้านการค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม การลงทุน และการค้าภาคบริการของไทย ดังนี้

สินค้าเกษตรกรรม

ปัจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรในญี่ปุ่นไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าสุทธิสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก และมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การที่ญี่ปุ่นยอมเปิดตลาด สินค้าเกษตรให้ไทยภายใต้ FTA ไทย-ญี่ปุ่น โดยลดภาษีสินค้ากุ้งสด กุ้งต้มแช่เย็น กุ้งแปร-รูป ผักและผลไม้แปรรูป ผักและผลไม้กระป๋อง และผลไม้สดเมืองร้อน รวมทั้งให้โควตา สินค้าส่งออกไทย ได้แก่ กล้วย กากน้ำตาล สับปะรดสด แป้งมันสำปะหลังแปรรูป จะเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกเหล่านี้ของไทยในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น แต่ไทยจะต้องเจรจารายละเอียดเรื่อง ROOs ของสินค้ารายตัว เพื่อให้ญี่ปุ่นยอมรับสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นโดยไม่มีอุปสรรคจากกฎ ROOs ที่เข้มงวดเกินไป จนอาจกีดกันไม่ให้สินค้าไทยได้รับสิทธิภายใต้ FTA เต็มที่ เช่น ข้อกำหนด ROOs ที่เข้มงวดสำหรับสินค้าประมงที่ต้องใช้ลูกเรือชาวไทยในการจับปลา

สินค้าอุตสาหกรรม
  • เหล็ก/ยานยนต์ - การเปิดเสรีอุตสาหกรรมเหล็กและยานยนต์ภายใต้ FTA ไทย-ญี่ปุ่นจะส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมเหล็ก/ยานยนต์ที่จะค่อยๆ ปรับตัวต่อการแข่งขันและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น สอดรับกับพันธกรณีของเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ที่ไทยและอาเซียนต้องลดภาษีสินค้าระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้สินค้ากว่า 90% ของสินค้าของอาเซียนทั้งหมดมีอัตราภาษีอยู่ในระดับเฉลี่ย 0-5% และจะลดภาษีเป็น 0% ภายในปี 2553 ทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศอาเซียนอื่นและส่งออกมาไทยโดยไม่เสียภาษี การจัดทำ FTA กับญี่ปุ่นจึงเป็นการเตรียมความพร้อมของไทยต่อการแข่งขันภายในภูมิภาค โดยพัฒนาคุณภาพสินค้าเหล็ก/ยานยนต์ และผลิตโดยต้นทุนต่ำลง
  • รองเท้า/อัญมณี/สิ่งทอ - ญี่ปุ่นยอมยกเลิกโควตาและลดภาษีรองเท้าเป็น 0% ใน 7-10 ปี ส่วนอัญมณี (ยกเว้นไข่มุกเทียมจะยกเลิกภาษีให้ไทยใน 7 ปี) และสิ่งทอจะลดภาษีเป็น 0% ทันที ทำให้สินค้ารองเท้า อัญมณี และสิ่งทอของไทยมีโอกาสขยายตัวในญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ไทยควรเจรจากฎ ROOs ให้สินค้าเหล่านี้ของไทยเข้าไปญี่ปุ่น โดยได้รับสิทธิภาษีภายใต้ FTA ไทย-ญี่ปุ่นได้ ไม่ติดเงื่อนไข ROOs ที่เข้มงวด เช่น ข้อกำหนดที่ระบุว่าสินค้าสิ่งทอไทยต้องใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% เป็นต้น

การลงทุน

การจัดทำ FTA กับญี่ปุ่น น่าจะเป็นปัจจัยบวกให้การลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาไทยมากขึ้น แข่งขันกับจีนซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการดึงดูดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันมูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนมากกว่าที่เข้ามาลงทุนไทย ซึ่งเป็นการ ส่งเสริมเป้าหมายที่ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค และก่อให้เกิดการ จ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไทยควรเร่งพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้มีคุณภาพและ เพียงพอต่อความต้องการด้วย นอกจากนี้ ไทยควรส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าอย่างครบวงจรจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปในไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าไทย ก่อนส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยจะเป็นผลดีต่อไทยเนื่องจากเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วยบรรเทาการขาดดุลการค้าของไทยกับญี่ปุ่น เนื่องจากลดการนำเข้าสินค้าเหล็กขั้นต้น/ชิ้นส่วนยานยนต์บางรายการจากญี่ปุ่น รวมทั้งช่วยเสริมศักยภาพแหล่งลงทุนไทยในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ อาเซียนอื่นๆ

การค้าบริการ

ญี่ปุ่นเปิดตลาดให้คนไทยเข้าไปให้บริการในญี่ปุ่น เช่น พ่อครัว แม่ครัว ครูสอนภาษาไทย คนสอนศิลปะวัฒนธรรม (เช่น ครูสอนรำไทย มวยไทย ดนตรีไทย) พนักงานสปา และคนดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน นอกจากคนไทยได้โอกาสในการเข้าไปให้บริการในญี่ปุ่นแล้ว การดึงดูดให้คนญี่ปุ่นเข้ามารับบริการในไทยเพื่อดึงดูดรายได้เข้าประเทศก็เป็นส่วนสำคัญที่ไทยจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูงอายุมาก และคนญี่ปุ่นมีเงินออมมาก การดึงดูดให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาพำนักพักผ่อนระยะยาวในไทย (long stay) โดยไทยให้บริการด้านสุขภาพ (Health Care / Medical Care) จะทำให้มีเงินตราไหลเข้าประเทศมากขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น นวดแผนไทย และสปาไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA