Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มกราคม 2548

เกษตรกรรม

ยางพาราปี'48 : ปัจจัยพึงระวัง ... ความต้องการชะลอตัว

คะแนนเฉลี่ย

ยางพารานับว่าเป็นสินค้าเกษตรที่โดดเด่นอย่างมากในปี 2547 เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์ นับเป็นแรงจูงใจให้ในปี 2548 ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การเปิดกรีดยางของสวนยางใหม่ การผลิตยางในตลาดโลกในปี 2548 คาดว่าจะมีประมาณ 8.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 คาดการณ์ว่าในปี 2548 ความต้องการยางในตลาดโลกจะมีปริมาณ 7.6 ล้านตัน และในปี 2549 ความต้องการยางในตลาดโลกยังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.8 โดยคาดว่าความต้องการยางจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศที่กำลังพัฒนา กล่าวคือ ความต้องการยางในประเทศกำลังพัฒนามีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราการขยายตัวจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากการเติบโตของการบริโภคยางนั้นขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคยางอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการยางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าราคายางจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้บริโภคยางหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีนและอินเดีย

ปัจจัยหนุนสำคัญคือนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้การส่งออกยางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยการเจาะขยายตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ ซึ่งตลาดที่น่าสนใจคือ อินเดีย และการสร้างเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก จากผลสำเร็จของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยาง 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ราคายางในประเทศมีเสถียรภาพและมีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาท

อย่างไรก็ตามปัจจัยพึงระวังสำหรับธุรกิจยางในปี 2548 คือ จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางที่สำคัญของไทย มีนโยบายชะลอการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางไทย รวมทั้งยังประสบปัญหาจากการแข่งขันจากเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดจีน นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากราคายางไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยราคาส่งออกยางพาราของไทยถือว่าสูงกว่าราคาส่งออกของคู่แข่งคือ อินโดนีเซียประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ประเทศผู้นำเข้ายางจากไทยโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนชะลอการนำเข้า

การบริโภคยางของโลกในช่วงปี 2548-2553 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าจะกลับไปขยายตัวอย่างมากอีกครั้งในช่วงปี 2553-2558 ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนของการเปิดกรีดยางเพิ่มขึ้นของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก และผลผลิตยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่เริ่มทยอยให้ผลผลิต สำหรับในประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันการขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ คาดว่าผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นอีก 250,000 ตัน/ปี จากในปัจจุบันที่มีปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งพื้นที่ยางที่มีการส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มนี้จะให้ผลผลิตได้เต็มที่ในปี 2556 ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมรับมือกับปริมาณการผลิตยางที่เพิ่มขึ้นคือ การเร่งผลักดันโครงการเมืองยางพารา ซึ่งจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพารา โดยส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป แทนที่การส่งออกในลักษณะวัตถุดิบเช่นในปัจจุบัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม