Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2548

อุตสาหกรรม

ตลาดเหล็กปี 2005 : เติบโตต่อเนื่อง ... ผันผวนน้อยลง

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะตลาดและราคาเหล็กของโลกในปี 2004 ที่ผ่านมามีความผันผวนเป็นอย่างยิ่ง ภาวะตึงตัวของตลาดเหล็กได้ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆในตลาดโลกพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างมาก โดยที่การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศจีนในอัตรากว่าร้อยละ 9 ต่อปี นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ได้กระตุ้นให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนและการขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการก่อสร้าง ได้ส่งผลให้ความต้องการเหล็กในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับในปี 2005 นี้ คาดว่าความต้องการเหล็กของโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ (International Iron and Steel Institute : IISI) ได้คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเหล็กของโลกในปี 2005 จะขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 5 จากปี 2004 โดยที่จีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก คือประมาณ 290 ล้านเมตริกตัน อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวในปีนี้จะชะลอตัวลงจากปี 2003-2004 ที่ผ่านมาซึ่งปริมาณความต้องการใช้เหล็กของโลกได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5-7.6 ต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าความต้องการเหล็กของโลกในปี 2005 นี้ แม้จะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2004 ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้
  1. นโยบายชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญ

    ยิ่งที่ส่งผลต่อภาวะตลาดเหล็กของโลก ทั้งนี้จากการที่ปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดที่มีปริมาณการบริโภคเหล็กสูงที่สุดในโลก คือเกือบร้อยละ 28 ของความต้องการรวมทั้งโลกในปี 2004 ดังนั้นปัจจัยใดๆที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อระดับการบริโภคของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศมาตรการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนเมื่อปีที่แล้ว จึงได้ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดและราคาเหล็กระหว่างประเทศ ทั้งนี้เชื่อว่าผลต่อเนื่องจากมาตรการดังกล่าวต่อการชะลอความต้องการเหล็กของจีนน่าจะชัดเจนขึ้นในปี 2005 คาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของจีนในปี 2005 จะเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 10 เทียบกับร้อยละ 24.4 และร้อยละ 13.2 ในปี 2003 และ 2004 ตามลำดับ
  2. ความต้องการเหล็กของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2004 นั้น นอกจากจะเป็นผล

จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 9 ต่อปีแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากการเก็งกำไรและความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนเหล็กในตลาดโลก ทำให้พ่อค้าเหล็กมีการกักตุนเหล็กจนเกิดภาวะอุปสงค์เหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติหรือสูงกว่าปริมาณความต้องการที่ใช้จริง ราคาเหล็กในตลาดโลกจึงได้ทะยานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตามสำหรับในปี 2005 นี้ เนื่องจากการคาดการณ์โดยทั่วไปว่าความต้องการใช้เหล็กของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่แล้ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเหล็กขาดแคลน ภาวะการกักตุน ตลอดจนการเก็งกำไรจากตลาดเหล็กระหว่างประเทศผ่อนคลายลงในปีนี้ ทำให้อุปสงค์ของเหล็กในตลาดจะสะท้อนถึงความต้องการใช้ที่แท้จริงมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาวะตึงตัวของตลาดเหล็กในประเทศที่ได้สร้างความผันผวนด้านราคาและอุปทานเหล็กเป็นอย่างมากในปี 2004 ที่ผ่านมานั้น จะบรรเทาลงในปี 2005 นี้ ทั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์เหล็กในตลาดโลกที่จะผ่อนคลายลงดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับการขยายกำลังการผลิตหรือเพิ่มการผลิตของโรงงานเหล็กใหญ่ๆ ในประเทศหลายราย ที่จะมาช่วยเพิ่มอุปทานเหล็กในประเทศได้เช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าแม้ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจะทำให้ความต้องการเหล็กในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เสียหายในเขตจังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็คาดว่าอุปทานเหล็กที่จะเพิ่มขึ้นในตลาดจะสามารถรองรับความต้องการที่สูงขึ้นได้ จึงคาดว่าสถานการณ์ของตลาดเหล็กในประเทศไทยปี 2005 นี้ จะลดความผันผวนลงและมีเสถียรภาพดีกว่าปีที่แล้วเช่นเดียวกับในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม