Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มีนาคม 2548

อุตสาหกรรม

รถยนต์และชิ้นส่วนไทยสู่เป้าดีทรอยต์แห่งเอเชีย ... ต้องเร่งยกระดับคุณภาพสู่มาตรฐานโลก

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก ด้วยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ในขณะที่การส่งออกเพิ่งจะเริ่มมีบทบาทเด่นชัดเมื่อไม่นานนี่เอง ทั้งนี้ปริมาณส่งออกได้เริ่มขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากจำนวนเพียง 14,020 คันในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 42,218 คันในปี 2540 เป็น 67,857 คันในปี 2541 และพุ่งเกินหลักแสนมาเป็น 125,702 คันในปี 2542 หรือขยายตัวในอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 116 ต่อปี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าช่วงระหว่างปี 2540-42 คือช่วงเวลาแห่งการเริ่มทะยานขึ้น (Take-Off Period) ของการส่งออกรถยนต์ของไทยและได้นำพาให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการส่งออก ช่วงจังหวะหลังจากนั้นนี่เองทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากค่ายผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆจากต่างประเทศ ต่างเห็นพ้องในอันที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย โดยได้มีการตั้งเป้าการส่งออกรถยนต์ไว้ที่ 8 แสนคันจากเป้าปริมาณการผลิต 1.8 ล้านคันภายในปี 2553 ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และในปี 2547 ที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกินหลัก 3 แสนคันเป็นครั้งแรก ด้วยจำนวน 332,053 คัน หรือขยายตัวถึงร้อยละ 41.3 จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4 แสนคันในปี 2548 นี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาวะการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของไทยกำลังมีแนวโน้มสดใส ทำให้ความหวังที่จะเห็นอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคหรือดีทรอยต์แห่งเอเชียมีความเป็นไปได้สูงนั้น แต่ทว่าประเด็นเรื่องการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตยานยนต์ของไทยสู่ตลาดโลกกำลังได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกรณีเหตุการณ์เมื่อเร็วๆนี้ ที่ผู้ซื้อรถยนต์เรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งซื้อมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ทั้งค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งเดินหน้าในโครงการต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนามาตรฐานยานยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่รวมไปถึงอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างมากควบคู่ไปด้วย หากจะต้องการให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลกอย่างแท้จริง แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ๆในไทยที่เป็นผู้ผลิตในระดับ First Tier OEM(Original Equipment Manufacturers) ที่ป้อนชิ้นส่วนให้โรงงานรถยนต์โดยตรง จะเป็นการลงทุนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ผลิตอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ประกอบการคนไทยและเป็นผู้รับช่วงผลิตในระดับรองๆลงมา ที่ยังต้องเร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต นอกจากนั้น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญสูง ก็เป็นปัญหาที่ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายเล็กกว่าพันรายในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบต่างกำลังประสบอยู่ ดังนั้นขณะนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันยานยนต์และกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีการเตรียมนำเสนอโครงการต่างๆ ต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา, ศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์และสนามทดสอบยานยนต์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสู่เป้าหมายการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียภายในปี 2553

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าการจะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียนั้น ไม่ได้มีความหมายเฉพาะในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเป้าหมายในเชิงคุณภาพ ซึ่งรวมถึงความเพียบพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยียานยนต์ ประสิทธิภาพของบุคลากร ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบ ทั้งนี้การเสริมสร้างและยกระดับคุณภาพมาตรฐานจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริงและดำรงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม