Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 กันยายน 2548

การค้า

เจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 5 : ย้ำจุดยืนไทย

คะแนนเฉลี่ย

พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในวันที่ 19 กันยายน 2548 หลังจากเข้าร่วมประชุม ASEAN-UN Summit ครั้งที่ 2 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 60 ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2548 ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐฯ ประเด็นการหารือทวิภาคีของผู้นำทั้งสองที่น่าจับตามองครั้งนี้ คือ การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดจะเจรจารอบต่อไป (ครั้งที่ 5) ในวันที่ 27 กันยายน - 5 ตุลาคม 2548 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐฯ

ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดยืนของฝ่ายไทยในการเจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ให้ไทยได้ประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่อยู่บนพื้นฐานของการเปิดเสรีที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) สรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้

1. ภาคเกษตร

- ไทยควรผลักดันให้สหรัฐฯ ลด/ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ที่สำคัญ เช่น มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) และการอุดหนุนภาคเกษตรของสหรัฐฯ ทั้งการอุดหนุนการผลิตและอุดหนุนการส่งออก เป็นสาเหตุให้ราคาสินค้าเกษตรของโลกตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรได้ในราคาต่ำ

- ไทยควรคำนึงถึงความมั่นคงและอธิปไตยด้านอาหาร (Food Security) จากการถูกสหรัฐฯ ผลักดันให้เปิดตลาดภาคเกษตรของไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ เข้ามา ผูกขาดตลาดภาคเกษตรในไทย

2. ภาคอุตสาหกรรม

- ไทยควรจัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ของสินค้าอุตสาหกรรมกับสหรัฐฯ เพื่อให้สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับด้านมาตรฐาน ทำให้สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ไม่ติดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เช่น มาตรการกีดกันทางด้านเทคนิค (Technical Barriersห to Trade : TBT)

- ไทยควรผลักดันให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีให้ไทยทันทีหรือลดภาษีให้ไทยโดยเร็วสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า ปลาทูน่า-กระป๋อง และยานยนต์ ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมอ่อนไหวที่ไทยยังไม่ต้องการลดภาษีให้สหรัฐฯ ในทันที เช่น พลาสติก ปิโตรเคมี เหล็ก แก้ว และอลูมิเนียม ก็ควรเตรียมปรับตัวต่อการแข่งขันและตั้งรับหากสหรัฐฯ กดดันให้ไทยลดภาษีสินค้าดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน

3. ภาคบริการ

สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดเสรีภาคบริการอย่างเต็มที่และทันที เช่น การเปิดเสรีภาคการเงินอย่างเต็มที่ การเปิดเสรีตลาดบริการจัดส่งพัสดุด่วน (Express Delivery Services : EDS) และการยกเลิกอาชีพสงวนของคนไทย 39 อาชีพที่ไทยห้ามคนต่างด้าวทำตามพระราชกฤษฎีกาการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2522 เช่น วิชาชีพบัญชี นักกฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรมออกแบบและเขียนแบบ เป็นต้น ในขณะที่ไทยต้องการเปิดเสรีภาคบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไทยจึงควรเจรจาประนีประนอมกับสหรัฐฯ อย่างรอบคอบ เพราะการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในทันทีอาจทำให้ธุรกิจของสหรัฐฯ เข้ามา ผูกขาดการให้บริการในไทย ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่พร้อมต่อการแข่งขันในทันที

4. ทรัพย์สินทางปัญญา

ไทยควรยืนยันท่าทีเดิมเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะยอมรับข้อผูกพันการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับข้อตกลง TRIPs ของ WTO โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา เพื่อมิให้กระทบต่อการเข้าถึงยาของคนยากจน และยืนยันให้ไทยสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และการนำเข้าซ้อนได้ เพื่อให้ยามีราคาถูก ขณะเดียวกัน ไทยควรมีท่าทีเชิงรุกในการเรียกร้องสหรัฐฯ ให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) กับสินค้าของไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และผ้าไหมไทย ที่ทางการไทยต้องการนำเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย

5. สิ่งแวดล้อมและแรงงาน

สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยมีการคุ้มครองสิทธิของแรงงานและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้มีระดับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงานภายในประเทศระดับสูง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสหรัฐฯ อาจนำประเด็นเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและ แรงงานที่เข้มงวดมาใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้ากับไทย ไทยควรมีอำนาจในการกำกับนโยบายด้าน สิ่งแวดล้อมและแรงงานอย่างเป็นอิสระ และสหรัฐฯ ไม่ควรนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานเป็น เงื่อนไขในการกีดกันทางการค้ากับไทย

การค้า

FTA