Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ตุลาคม 2548

อุตสาหกรรม

การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจีน : ผลกระทบต่อไทย

คะแนนเฉลี่ย

มูลค่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยจากประเทศจีนนั้น ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขมูลค่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ในปี 2547 ที่ผ่านมามีมูลค่า 324.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (13,137.5 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปี 2546 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ของมูลค่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีผลมาจากการราคาสินค้าจากจีนที่เข้ามาจำหน่ายต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 20-30 ทำให้การนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายมาก นอกจากนี้การที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO และจีนมีนโยบายที่จะเปิดประเทศและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมทุกประเภท ทำให้มีการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าออกมาเป็นจำนวนมากโดยมาจากโรงงานหรือบริษัทของจีนเองและการขยายฐานการลงทุนของผู้ผลิตข้ามชาติ ย้ายเข้าไปลงทุนในประเทศจีนซึ่งมีจำนวนมากและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทยในตลาดโลกด้วย

ปัจจุบันจีนเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่มีมูลค่าการส่งออก 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกประมาณร้อยละ 40 ต่อปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าจีนจะสามารถขยายการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังตลาดต่างประเทศได้มากก็ตามแต่จีนเองก็ยังเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกเช่นกัน ในปี 2547 ที่ผ่านมาจีนนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้ามากถึง 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี แหล่งนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของจีน ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย สหรัฐ

การขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนได้ส่งผลกระทบต่อไทย ทั้งในด้านตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ดังนี้

ตลาดในประเทศ การขยายตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้านำเข้าจำนวนมาก ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตและการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมากพอสมควร โดยเฉพาะการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตในประเทศต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ประกอบด้วย สินค้าในหมวดภาพและเสียง เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี เครื่องเล่นดีวีดี และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เครื่องบด-ปั่นอาหาร หม้อต้มกาแฟ เตาอบ

ตลาดต่างประเทศ แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในปี 2547 จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35.25 คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 13,153.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (527,755 ล้านบาท) และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่า 9,320 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่ก็พบว่าส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในตลาดโลกในปี 2547 ไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น ในขณะที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10 ของตลาดโลก

การวัดความสามารถในการแข่งขันของเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยกับจีนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย แม้ว่าตัวเลขการส่งออกจะชี้ให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไปยังสหรัฐนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาจากตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดสหรัฐโดยข้อมูลของ U.S. Department of Commerce ในปี 2544-2548 (ม.ค.-ก.ค.) พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างคงตัวและมีการขยายตัวไม่มากนักในขณะที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสินค้าหลายประเภท เช่น เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศและเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับไทย ทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไปยังตลาดสหรัฐ พบว่า ยังมีการเติบโตค่อนข้างดี นอกจากนี้ดัชนีค่าความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Revealed Comparative Advantage Index : RCA) ของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในตลาดสหรัฐอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยในปี 2547 ที่ผ่านมาการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยไปตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.16 และในช่วงไตรมาส 8 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.67 ขณะที่ค่า RCA ของเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในตลาดสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง เช่น เตาอบไมโครเวฟ มีค่า RCA เท่ากับ 6.8 (มีศักยภาพค่อนข้างสูง) เครื่องรับโทรทัศน์ เท่ากับ 4.5 เครื่องปรับอากาศ เท่ากับ 3.2 ส่วนตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เท่ากับ 0.1 (มีศักยภาพในการแข่งขันต่ำ) ในขณะที่จีนแม้สินค้าหลายชนิดจะมีค่า RCA ของสินค้าต่ำกว่าไทย แต่สังเกตว่าตัวเลขค่า RCA มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาค่า RCA ของเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยแล้วจะเห็นว่ามีทิศทางที่ทรงตัวหรือลดต่ำลงกว่าเดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ค่า RCA ที่ทรงตัวหรือลดลงของสินค้านั้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แม้ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยจะมีการขยายตัวของการส่งออกค่อนข้างมาก แต่การส่งออกส่วนใหญ่นั้นยังเป็นการผลิตของกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาเปิดฐานการผลิตในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีน เนื่องจากอุปสรรคหลายประการดังนี้

- การกระจุกตัวของกลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติ แม้วาไทยจะมีการเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามามาก แต่การเป็น host country หรือฐานการผลิตกลับไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับได้มากเท่าที่ควร นอกจากการเป็นผลิตในลักษณะที่เป็น OEM หรือการผลิตชิ้นส่วนเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการต่อยอดเทคโนโลยีของบุคลากรในประเทศยังไม่เพียงพอและขาดประสิทธิภาพ และมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ยังมีน้อย และต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีของต่างชาติอยู่มาก

- ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม เนื่องจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในเรื่องวัตถุดิบที่ใช้และเทคโนโลยีการแต่การกำหนดนโยบายของรัฐในช่วงที่ผ่านมามักจะเป็นการกำหนดนโยบายโดยรวม ทำให้แต่ละอุตสาหกรรมย่อมได้รับประโยชน์จากนโยบายแตกต่างกันไป ส่วนการกำหนดแผนสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะและการปรับโครงสร้างภาษีสำหรับสินค้าวัตตถุดิบยังมีความล่าช้า

- มาตรฐานของสินค้า การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีนนั้นส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพ เกิดการชำรุดหรือเสียหายได้ง่าย นอกจากจะเข้ามาแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศแล้วยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคด้วย การกำหนดมาตรฐานของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยนั้นยังไม่สามารถคัดกรองสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายได้มากนัก ในขณะที่ไทยเองต้องเผชิญกับมาตรฐานของสินค้าที่กำหนดเป็นกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศหลากหลายแห่ง เช่น ในตลาด EU มีมาตรการกำจัดขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) การกำจัดการใช้สารอันตราย ส่วนในประเทศจีนเองก็มีข้อบังคับเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า CCC Mark (China Compulsory Certificate) ซึ่งมาตรการทางด้านการบังคับมาตรฐานสินค้าเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ส่งออกของไทย ขณะที่การออกมาตรฐานบังคับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีความล่าช้าทำให้สินค้าของไทยมีความเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน นอกจากนี้หากมีการลดภาษีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าตามข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศจีน (FTA) จะยิ่งทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้าจำหน่ายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

- ด้านการตลาด การขาดแคลนบุคลากรทางด้านการตลาดต่างประเทศและข้อมูลทางการตลาดที่ไม่เพียงพอ ทำให้โอกาสในการขยายตลาดไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือการขยายผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดใหม่ๆ มีน้อย นอกจากนี้ราคาจำหน่ายของสินค้าของไทยที่สูงกว่าคู่แข่งในสินค้าที่การผลิตไม่ซับซ้อนและใช้แรงงานในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ เช่น พัดลมไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตไทยเผชิญกับการแข่งขันสูง และศักยภาพในการแข่งขันต่ำ นอกจากนี้ศูนย์ทดสอบมาตรฐานสินค้าที่มีไม่เพียงพอที่จะให้บริการจะส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายสินค้า

การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าของจีนนั้น มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ไทยเองก็เป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ย่อมหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับจีนในตลาดต่างๆ ได้ยาก นอกจากนี้ในตลาดส่งออกที่สำคัญหลายแห่ง สินค้าที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายยังมีแนวโน้มของความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับคงตัวจนถึงมีแนวโน้มลดน้อยลง ในขณะที่สินค้าจากจีนแม้จะดูเหมือนว่ามีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าแต่ก็มีแนวโน้มของศักยภาพของการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับส่วนแบ่งตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นควบคู่กับไป ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้

ด้านการผลิต ผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารต้นทุนการผลิตให้ลดต่ำลงควบคูกับการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ของตลาดโลก รวมทั้งการสนับสนุนการจัดตั้งอุตสาหกรรมสนับสนุนในลักษณะคลัสเตอร์ เพื่อเกิดความเชื่อมโยงในการผลิตและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบจากในประเทศเพิ่มขึ้น

ด้านการตลาด ควรเร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะในตลาดขนาดใหญ่มักจะมีการแข่งขันทางด้านราคาสูง นอกจากนี้ควรเร่งจัดทำมาตรฐานของสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสินค้าที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศและขณะเดียวกันก็ใช้เป็นมาตรฐานคัดกรองสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในประเทศด้วย

ด้านนโยบาย การจัดทำแผนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าควรจะมีทั้งแผนการพัฒนาโดยภาพรวมและมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะประเภทของสินค้า เนื่องจากรายละเอียดของแต่สินค้าที่ผลิตมีความแตกต่างกัน ซึ่งในช่วงแรกนั้นควรเน้นที่ประเภทของสินค้าที่ไทยมีการส่งออกมากและมีความสามารถในการแข่งขันสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตดี เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ในขณะเดียวกันก็ควรจะเร่งปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงและไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม