Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤศจิกายน 2548

เกษตรกรรม

ภาคเกษตรกรรมปี 2549 : การแข่งขันรุนแรง...จับตาปัจจัยเกื้อหนุนและปัจจัยเสี่ยง

คะแนนเฉลี่ย

ปี 2549 นับว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับภาคเกษตรกรรม เนื่องจากคาดการณ์ว่าภาคเกษตรกรรมต้องเผชิญกับปัญหาและปัจจัยเสี่ยงหลากหลายประการ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรกรรมสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากคาดว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศคู่แข่งของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ประเทศคู่ค้ามีอำนาจในการต่อรองในด้านราคา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรกรรมโดยเฉลี่ยในปี 2549 มีแนวโน้มลดลง สินค้าส่งออกที่น่าเป็นห่วงคือ สินค้าในหมวดกสิกรรมโดยเฉพาะข้าว ส่วนสินค้าปศุสัตว์แม้จะมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ผู้บริโภคในต่างประเทศอาจจะลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ไก่ อันเป็นผลมาจากความหวาดวิตกในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ส่วนสินค้าประมงก็หันไปส่งออกยังตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น แม้ว่าจะคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มส่งออกได้มากขึ้น แต่ก็เผชิญกับความเสี่ยงเนื่องจากตลาดสหภาพยุโรปมีความเข้มงวดอย่างมากในเรื่องสุขอนามัย โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ และยังมีเกณฑ์ที่เข้มงวดในการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงฟาร์มที่ผลิต ทำให้ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังอย่างมากในการส่งออก

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังมีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องจากในปี 2548 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายด้าน โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศเริ่มหันมารับประทานเนื้อปลามากขึ้น จากความวิตกในเรื่องไข้หวัดนกและกระแสการรักษาสุขภาพ ทำให้คาดว่าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปจะมีการขยายตัวในการส่งออกอย่างมาก ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในปี 2549 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรนั้นเป็นตัวดึงให้ภาคเกษตรกรรมยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกในภาคเกษตรกรรมจะชะลอตัวลงไม่เติบโตอย่างโดดเด่นเช่นในปี 2546-2547

ในปี 2549 มีทั้งปัจจัยเกื้อหนุนและปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้สถานการณ์ด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรพลิกผัน ดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประเด็นที่จะต้องจับตาคือ ในช่วงกลางปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งนั้นจะเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอกับการเพาะปลูกในบางพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพื้นที่ยังมีไม่เต็มความจุของอ่างเก็บน้ำ ทำให้ต้องมีนโยบายงดการปลูกพืชในฤดูแล้งในบางพื้นที่ นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ถ้ามีปัญหาฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกชุกมากกว่าปกติก็อาจจะเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอกับการเพาะปลูกหรือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตร ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดเหตุการณ์นี้กับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการเกษตรกับไทย หรือในประเทศคู่ค้าของไทยก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2546

2.นโยบายรัฐบาล ในปัจจุบันมีนโยบายรัฐบาลหลากหลายนโยบายที่เป็นปัจจัยหนุนต่อภาคเกษตรกรรม เช่น การปรับโครงสร้างการผลิต กำหนดนโยบายด้านการผลิตและการตลาดสำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2548-2551 โดยมีนโยบายปรับลดพื้นที่สินค้าเกษตรที่มีปัญหาในด้านการตลาด คงพื้นที่ในสินค้าที่ยังคงมีศักยภาพการผลิต และขยายพื้นที่สินค้าที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ไก่เนื้อ ข้าว และยางพารา ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้กับสินค้าเกษตรเหล่านี้ นโยบายขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานทดแทน ซึ่งพืชที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจนคือ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน นโยบายการเจาะขยายตลาดทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ ซึ่งส่งผลให้มีการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยตลาดเดิมที่น่าสนใจในการเจาะขยายตลาดคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ส่วนตลาดใหม่ที่น่าสนใจ คือ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และโอเชียเนีย ซึ่งจะต้องมีการศึกษากลยุทธ์การเจาะขยายตลาดแยกเป็นภูมิภาค โดยศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อที่จะผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ นอกจากนี้นโยบายที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำหรับภาคเกษตรกรรมในระยะยาวคือ การส่งเสริมการลงทุนปลูกพืชไร่ในต่างประเทศ ทั้งยางพารา พืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชพลังงานทดแทน ซึ่งจะทำให้ไทยมีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอที่จะป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศ และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์และประมงของไทยมีแนวโน้มลดลง

สำหรับนโยบายรัฐบาลที่อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคเกษตรกรรม คือ นโยบายการแทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตร เนื่องจากอาจจะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยด้อยลง อันเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน

3.สถานการณ์ในต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในต่างประเทศอาจจะเป็นทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยแยกเป็น

3.1สถานการณ์ในประเทศคู่ค้า การเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยในปี 2549 สินค้าเกษตรที่ได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศคู่ค้าคือ ผลิตภัณฑ์กุ้ง โดยในปี 2549 สหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีให้กับไทย ทำให้คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2549 จะอยู่ในเกณฑ์สูง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าประเภทปลา คาดว่าในปี 2549 จะมีการขยายตัวในการส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี อันเป็นผลมาจากกระแสบริโภคสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพและการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคอาหารประเภทปลาเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรที่สถานการณ์ในประเทศคู่ค้าเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เนื่องจากราคาส่งออกของไทยอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งส่งผลให้ประเทศที่นำเข้าโดยเฉพาะจีนหันไปซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากแหล่งอื่น หรือหันไปใช้วัตถุดิบจากธัญพืชอื่นทดแทน

คาดว่าในปี 2549 การค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก ดังนั้นราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินว่าประเทศคู่ค้าจะเลือกซื้อสินค้าจากประเทศใด รวมทั้งการเปิดเสรีทางการค้าทำให้อุปสรรคในเรื่องภาษีนำเข้าลดลง แต่คาดว่าประเทศคู่ค้าจะเพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยและการตรวจสอบแหล่งกำเนิดของสินค้ามากขึ้น ถ้าผู้ส่งออกไทยสามารถปฎิบัติได้ตามเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้าก็จะมีส่วนที่จะผลักดันให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยขยายตัวออกไปได้

3.2สถานการณ์ในประเทศคู่แข่ง ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของประเทศคู่แข่ง และการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมทั้งการเกิดภาวะโรคระบาดหรือปัญหาในด้านการส่งออกอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาโรคระบาดหรือปัญหาด้านสุขอนามัยในด้านการผลิต โดยเฉพาะปัญหาสารเคมีตกค้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม