Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2548

การค้า

ประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ณ ฮ่องกง : ชี้ชะตาอนาคตการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา

คะแนนเฉลี่ย

กำหนดชี้ชะตาอนาคตของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาดำเนินมาอีกรอบ เนื่องจากรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดจะประชุมหารือในวันที่ 13-18 ธันวาคม 2548 ณ ฮ่องกง หลังจากที่กำหนดการเจรจาปิดรอบการค้าในวันที่ 1 มกราคม 2548 ไม่สามารถเจรจาให้ได้ข้อยุติตามกำหนดที่ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่เริ่มเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาในปี 2544 ในการประชุมครั้งนี้มีสัญญาณบ่งชี้จากหลายๆ ฝ่ายว่า มีแนวโน้มที่การเจรจาจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทั้งหมด แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้ยื่นข้อเสนอลดการอุดหนุนภาคเกษตรภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจของประเทศสมาชิก WTO โดยเฉพาะข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่ประเทศส่วนใหญ่ เห็นว่าระดับการลดการอุดหนุนภาคเกษตรตามที่สหภาพยุโรปเสนอยังไม่เพียงพอ สรุปประเด็นสำคัญของการเปิดเสรีในแต่ละเรื่องและท่าทีไทย ดังนี้

-การเปิดเสรีภาคเกษตร

การประชุมของรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งนี้ จะเป็นการเจรจาต่อรองเรื่องเปิดเสรีภาคเกษตร ทั้งในเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตร และการต่อรองระหว่างประเทศพัฒนาแล้วเรื่องสัดส่วนการลดการอุดหนุนภาคเกษตร ครอบคลุมการลดการอุดหนุนการผลิตภาคเกษตรและการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งหากประเทศพัฒนาเหล่านี้เปิดเสรีภาคเกษตรโดยลดการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ธนาคารโลกประเมินว่า การที่ประเทศพัฒนาแล้วลดภาษีสินค้าเกษตรและลดการอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตร จะส่งผลให้ปริมาณการค้าข้าวและน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 20% และข้อตกลงโดฮาที่ประสบผลสำเร็จจากการลดการกีดกันสินค้าเกษตรจะช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2558

-การเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบันการค้าโลกยังคงประสบอุปสรรคจากอัตราภาษีของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับสูงในสาขาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิก WTO ซึ่งขณะนี้สมาชิก WTO ยังไม่ได้ข้อยุติในการเจรจาเรื่องสูตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบันของแต่ละประเทศสมาชิกแตกต่างกัน ไทยสนับสนุนการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม (Non-Agricultural Market Access : NAMA) โดยสนับสนุนสูตรการลดภาษี "Swiss Formula" ซึ่งสมาชิก WTO ส่วนใหญ่เห็นชอบกับสูตรนี้ เนื่องจากอัตราภาษีสูงจะลดลงมากกว่าอัตราภาษีต่ำ และให้ความยืดหยุ่นกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมของสมาชิก WTO เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทย 78% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย เป็นสินค้าอุตสาหกรรม การลดภาษีดังกล่าวจะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้สะดวกขึ้น โดยสาขาที่ไทยมีศักยภาพจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิก WTO ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ประมงและผลิตภัณฑ์ประมง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์จากไม้

-การเปิดเสรีภาคบริการ

ประเทศพัฒนาแล้วเป็นฝ่ายรุกประเทศกำลังพัฒนาให้เปิดเสรีภาคบริการให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าและศักยภาพด้านการค้าภาคบริการมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศพัฒนาแล้วเห็นว่า กระบวนการเปิดเสรีภาคบริการโดยวิธี Request และ Offer ทำให้การเปิดเสรีภาคบริการของ WTO ล่าช้า ไม่สามารถทำให้การเปิดเสรีด้านบริการของประเทศกำลังพัฒนาบรรลุผลได้ จึงเสนอหลักชี้วัด (Benchmarking Proposals) สำหรับการเปิดตลาดภาคบริการ โดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งสาขาและสาขาย่อยภาคบริการที่จะเปิดเสรี และระดับการเปิดเสรี โดยใช้วิธีการวัดระดับการเปิดตลาดเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพของรายสาขาและแต่ละรูปแบบการให้บริการ ซึ่งประเทศไทย รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ และประเทศด้อยพัฒนาต่างคัดค้านข้อเสนอ Benchmarking นี้ เพราะขัดต่อหลักการเรื่องความยืดหยุ่นที่ให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับความยืดหยุ่นในการเปิดตลาดบริการบางสาขา และให้สิทธิแต่ละประเทศในการกำหนดเป้าหมายเชิงนโยบายของตน และกำหนดสาขา/สาขาย่อยด้านบริการที่จะเปิดเสรีเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ นอกจากนี้ ไทยต้องการให้เปิดเสรีภาคบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสาขาที่ไทยมีความพร้อม และสนับสนุนการเจรจาเปิดตลาดภาคบริการในรูปแบบจัดทำ Request และ Offer

- อนาคตการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา

ในการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา ณ ฮ่องกง ครั้งนี้ คาดว่าประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการเจรจาการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นรูปแบบการเปิดเสรีทางการค้าที่ดีที่สุด เพราะพันธกรณีการเปิดเสรีครอบคลุมถึง 148 ประเทศสมาชิก WTO (ประเทศซาอุดิอาระเบียมีกำหนดจะเข้าเป็นสมาชิก WTO ลำดับที่ 149 หลังการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ณ ฮ่องกง ศกนี้) และจะพยายามเจรจาให้ได้ข้อสรุปด้านรูปแบบและสูตรการเปิดตลาดในแต่ละเรื่อง เพราะจะนำไปสู่การจัดทำตารางการลดภาษี/การเปิดเสรีในปี 2549 และสามารถเริ่มต้นดำเนินการลดภาษี/เปิดเสรีตามข้อสรุปดังกล่าวได้ในปี 2550 หากการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมาจะล่าช้าออกไป ส่งผลเสียต่อการค้าโลก และสมาชิก WTO จะหันไปเจรจาเปิดเสรี ทวิภาคี (FTA) แทน จนละเลยการเจรจาการค้าพหุภาคี นอกจากนี้ หากการเจรจาการค้าโลกรอบ โดฮายืดเยื้อออกไป จนกระทั่งอำนาจการเจรจาของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ (Fast-Track Negotiating Authority) สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2550 จะมีแนวโน้มสูงที่การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี ดังนั้น การตัดสินใจทางการเมืองของประเทศสมาชิก WTO โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปิดเสรีภาคเกษตรของประเทศพัฒนาแล้ว ในการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ณ ฮ่องกง วันที่ 13-18 ธันวาคม 2548 จะมีส่วนสำคัญและช่วยผลักดันให้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาดำเนินต่อไป และบรรลุข้อตกลงกันได้ในที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า