Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 กรกฎาคม 2548

อุตสาหกรรม

เครื่องปรุงรสอาหาร : ขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและส่งออก

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยยอมรับและบริโภคเครื่องปรุงรสที่มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนตลาดในต่างประเทศความนิยมเครื่องปรุงรสอาหารจากประเทศไทยเริ่มขยายตัวไปสู่การวางจำหน่ายบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ จากที่เคยจำกัดตัวอยู่ในร้านขายของชำของชาวเอเชีย เนื่องจากชาวต่างชาติหันมานิยมรับประทานอาหารไทยมากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศมีขนาดใหญ่ถึง 9,700 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของตลาดในแต่ละปีเฉลี่ยร้อยละ 10 ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารยังแยกออกได้เป็นประเภทใหญ่ ดังนี้ น้ำปลา คาดว่ามูลค่าตลาดน้ำปลาในปี 2548 เท่ากับ 4,000 ล้านบาท ตลาดน้ำปลาในประเทศมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะตลาดน้ำปลาแท้มีอัตราการการขยายตลาดราวร้อยละ 20-30 ในขณะที่น้ำปลาผสมและน้ำปลาวิทยาศาสตร์ค่อยๆ เริ่มหายไปจากตลาด ซอสคาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดซอสประมาณ 2,200 ล้านบาท ประเภทของซอสที่เป็นที่นิยมบริโภคของคนไทยมานานคือ ซอสถั่วเหลืองและซอสพริก ส่วนซอสที่มีการขยายตลาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ ซอสมะเขือเทศเนื่องจากการขยายตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีการรับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบตะวันตก โดยเฉพาะการขยายตัวของร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ เครื่องแกง คาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดเครื่องแกงเท่ากับ 1,000 ล้านบาท การผลิตเครื่องแกงในทางการค้าแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ เครื่องแกงสด และเครื่องแกงสำเร็จรูป ผงปรุงรส คาดว่าในปี 2548 มูลค่าของตลาดเครื่องปรุงรสอื่นๆเท่ากับ 2,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทก้อนมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 70 และชนิดผงมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 30 ตลาดผงปรุงรสก็นับว่าเป็นเครื่องปรุงรสอาหารประเภทหนึ่งที่มีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากผงปรุงรสนับว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้มีนักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้ามาลงทุนในตลาด รวมทั้งนักลงทุนรายเก่าก็พยายามคิดค้นสูตรเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผงปรุงรสมากขึ้น เครื่องปรุงรสอาหารอื่นๆ คาดว่าในปี 2548 มูลค่าของตลาดผงปรุงรสเท่ากับ 500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ คือ ซอสหอยนางรมหรือที่เรียกกันว่าน้ำมันหอย และน้ำพริกเผา เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่นิยมบริโภค

การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ 65.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 คาดว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 โดยคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปจะมีแนวโน้มขยายตัว อันเป็นผลมาจากหน่วยงานมาตรฐานอาหารอังกฤษ (UK Food Standards Agency : FSA) ตรวจพบสาร Sudan Red และ Para Red ในพริก ผลิตภัณฑ์เครื่องเทศ ขมิ้น และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่นๆที่มีส่วนผสมของพริก เครื่องเทศ และซอสจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ทำให้มีการประกาศเรียกคืนสินค้าอาหารที่ตรวจพบการปนเปื้อน ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเติบโตของผู้บริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในต่างประเทศขยายตัวตามการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และการบริโภคในครัวเรือนของชาวเอเชียที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ตลอดจนชาวต่างประเทศที่ติดใจในรสชาติอาหารไทย ปัจจุบันเครื่องปรุงรสอาหารของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ได้จำกัดการจำหน่ายเฉพาะในร้านชำของคนไทย จีน และเวียดนามเท่านั้น แต่ยังขยายการจำหน่ายไปในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของสหรัฐฯนับเป็นมิติใหม่ของสินค้าประเภทเครื่องปรุงรสอาหารที่ยกระดับจากเดิมจากการจำหน่ายในแวดวงคนเอเชีย ทำให้คาดว่าส่วนแบ่งตลาดเครื่องปรุงรสอาหารของไทยในต่างประเทศขยายตัวได้มากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม