Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 สิงหาคม 2548

อุตสาหกรรม

เอฟทีเอ(FTA)ไทย-ญี่ปุ่นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

คะแนนเฉลี่ย

ในที่สุดการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอ (FTA)ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อก็ได้ข้อสรุปไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ก่อนหน้านี้ทางสองฝ่ายได้มีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ทำให้การเจรจาเกิดภาวะชะงักงันในบางช่วง โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งในตอนแรกทางญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเปิดเสรีโดยให้ยกเลิกภาษีนำเข้าโดยทันที อันเป็นเงื่อนไขที่ทางไทยยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของไทย และเป็นความหวังที่จะเป็นตัวเร่งภาคการส่งออก อีกทั้งประเทศไทยยังได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลกหรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย ทั้งนี้ในช่วงต้นของการเจรจานั้น ทางญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ฝ่ายไทยเร่งเปิดเสรีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ทั้งที่มีขนาดเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี.ขึ้นไป และที่ต่ำกว่า3,000 ซีซี.ลงมาภายในเวลารวดเร็ว โดยได้เสนอให้ไทยลดภาษีนำเข้าในอัตราเร่งโดยทันที และยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมด คือให้ลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2553 ซึ่งทางฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยและได้ดำเนินการเจรจาต่อรองอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดจึงได้ข้อสรุปว่าไทยจะทยอยลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดเครื่องยนต์3,000 ซีซี.ขึ้นไปลงในลักษณะเป็นขั้นบันได คือจากร้อยละ 80 ในปัจจุบัน เหลือร้อยละ 75, ร้อยละ 70 และร้อยละ 60 ในช่วง 3 ปีแรกคือระหว่างปี 2550-2552 ตามลำดับ และจะคงภาษีไว้ที่ร้อยละ 60 ต่อไปในปี 2553 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะมีการเจรจาทบทวนกันอีกครั้ง ส่วนกรณีรถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี.ลงมา ทางไทยจะไม่ลดภาษีให้ในเวลานี้เพราะจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอย่างมาก สำหรับกรณีของชิ้นส่วนยานยนต์นั้น การเจรจาสรุปผลว่ารายการชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปัจจุบันมีอัตราภาษีเกินร้อยละ 20 จะลดเหลือร้อยละ 20 ทันที และจะลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2554 สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปัจจุบันมีอัตราภาษีเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 20 ให้คงอัตราเดิมไว้ก่อนจะลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2554

ในช่วงระหว่างที่มีการเจรจานั้น ข้อเสนอของทางญี่ปุ่นในการเปิดเสรีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์สำเร็จรูป (Completely-Built-Up:CBU) ภายในเวลาอันรวดเร็วนั้น ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยในประเทศ และจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ค่ายตะวันตกคือยุโรปและสหรัฐ ซึ่งวิตกว่าการลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 3,000 ซีซีขึ้นไป(ซึ่งก็คือรถยนต์นั่งประเภทหรูหรา)จากประเทศญี่ปุ่นโดยทันที และให้ยกเลิกภาษีภายในปี 2553 จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นการลงทุนจากค่ายรถใหญ่ๆจากยุโรปและสหรัฐ ทั้งนี้การเปิดเสรีให้มีการนำเข้ารถยนต์ขนาด 3,000 ซีซี.ขึ้นไปจากญี่ปุ่น เท่ากับเป็นการให้รถยนต์นั่งประเภทหรูหราจากญี่ปุ่นเข้ามารุกตลาดในประเทศ และแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในเซกเมนท์นี้ที่ปัจจุบันรถจากค่ายตะวันตกครองตลาดในประเทศอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากการเจรจาต่อรองที่ยืดเยื้อ ก็ได้ผลสรุปว่าทางไทยจะให้มีการค่อยๆทยอยลดภาษีนำเข้ารถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 3,000 ซีซี. ขึ้นไป แบบเป็นขั้นบันไดดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จนถึงปี 2553 แล้วค่อยเปิดการเจรจากันใหม่

สำหรับกรณีการเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์นั้น ในระหว่างช่วงที่มีการเจรจาทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้เรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาผลกระทบจากการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น โดยได้ระบุว่าการเปิดเสรีจะส่งผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเจรจาได้ข้อสรุปว่าทางไทยจะเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์ โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาให้ลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2554 เพื่อให้ผู้ผลิตของไทยมีเวลาปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตของคนไทย ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ทั้งนี้คาดว่าภาครัฐน่าจะเข้ามาเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในด้านวัตถุดิบ และที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรในประเทศ ให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม