Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 มกราคม 2549

การค้า

FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 6 : ย้ำจุดยืนยึดประโยชน์ร่วมกัน

คะแนนเฉลี่ย

การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีทวิภาคีกับสหรัฐฯ มีลักษณะกว้างครอบคลุมทุกเรื่อง (comprehensive) ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน รวมทั้งประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ที่สหรัฐฯ ต้องการให้มีลักษณะการผูกพันการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลผูกพันในระยะยาวกับประเทศไทย ต่างกับความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีที่ไทยลงนามไปแล้วกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ไม่ได้ผูกพันความเข้มงวดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ความตกลง FTA กับ 2 ประเทศดังกล่าวจึงไม่ได้ส่งผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาคบริการของไทยที่ยังไม่พร้อมจะเปิดเสรี ได้แก่ สาขาการเงินและโทรคมนาคม ไทยยังไม่มีข้อผูกพันกับออสเตรเลียเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่ไทยและออสเตรเลียตกลงที่จะเจรจากันอีกครั้งภายในปี 2551 ส่วนความตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ยังไม่ได้ครอบคลุมการเปิดเสรีภาคบริการ แต่จะเจรจาเปิดตลาดภาคบริการภายในปี 2551 เช่นกัน

หากการเจรจากับสหรัฐฯ ทำให้ไทยต้องยอมรับข้อผูกพันดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ไทยอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ เช่น การอนุญาตให้คนสหรัฐฯ เข้ามาประกอบอาชีพซึ่งปัจจุบันสงวนไว้เฉพาะสำหรับคนไทย การเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติให้สหรัฐฯ ในธุรกิจบางประเภท หรือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งผู้ประกอบการและประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วไป ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรเร่งรีบเจรจากับสหรัฐฯ ควรพิจารณาในแต่ละประเด็นอย่างรอบคอบ ดังนี้

เปิดตลาดสินค้า - การจัดทำ FTA ที่เจรจาลดอุปสรรคทางการค้าด้านภาษีและด้านที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ระหว่างกัน คาดว่า จะส่งผลให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย หากไทยไม่จัดทำ FTA กับสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะเสียเปรียบสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่จัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ทำให้สินค้าของประเทศเหล่านี้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ สะดวกขึ้นจากการลดอุปสรรคด้านภาษีและมาตรการ NTBs ของสหรัฐฯ คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สิ่งทอ/เสื้อผ้า ยานยนต์ อัญมณี และปลาทูน่ากระป๋อง รวมถึงการลดอุปสรรคด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ขณะเดียวกันสินค้าภาคเกษตรที่ไทยยังไม่พร้อมต่อการแข่งขันกับสินค้าของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และเนื้อโค รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมของไทยบางรายการที่จะต้องลดภาษีให้สหรัฐฯ ทันที

อย่างไรก็ตาม การจัดทำ FTA ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมเรื่องการค้าบริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมประเด็นเจรจาถึงกว่า 20 หัวข้อ ผลของข้อผูกพันภายใต้ความตกลงฯ จึงครอบคลุมกว้างและลึก

ธุรกิจบริการ - ปัจจุบันภาคบริการของไทยยังมีข้อจำกัด/กฎระเบียบค่อนข้างมาก และยังไม่พร้อมต่อการแข่งขันจากต่างชาติอย่างเต็มที่ การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กำหนดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในธุรกิจแต่ละประเภท และพระราชกฤษฎีกาการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2522 ที่ห้ามคนต่างชาติทำงานในอาชีพสงวน 39 อาชีพของคนไทย เช่น นักบัญชี นักกฎหมาย และวิศวกร รวมทั้งกฎหมายเฉพาะของสาขาบริการที่ระบุเงื่อนไขการเข้ามาประกอบธุรกิจของต่างชาติ เช่น สาขาการเงิน การขนส่ง และโทรคมนาคม การที่ไทยถูกกดดันจากสหรัฐฯ ให้เปิดเสรีภาคบริการ อาจส่งผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายเหล่านี้

นอกจากนี้ ภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (Treaty of Amity and Economic Relations between the Kingdom of Thailand and the United States of America) ที่ลงนามในปี 2509 ไทยและสหรัฐฯ ให้สิทธิแก่กันอย่างเสรีในการประกอบธุรกิจทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การคลัง ธุรกิจอื่นๆ ยกเว้น 6 สาขา/กิจกรรม ได้แก่ (1) สาขาคมนาคม (2) การขนส่ง (3) การดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น (4) การธนาคารที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน (5) การแสวงหาประโยชน์จากที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และ (6) การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางเกษตรพื้นเมือง ดังนั้นการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงต้องการเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดธุรกิจบริการ 6 สาขา/กิจกรรมที่เป็นข้อยกเว้นของสนธิสัญญาไมตรีฯ ข้างต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสาขาที่ไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรีอย่างเต็มที่

ทรัพย์สินทางปัญญา : ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นข้อพึงระวังในการเจรจากับสหรัฐฯ ทางการไทยควรมีจุดยืนชัดเจนและพิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไทยจะเสียเปรียบสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ เป็นเจ้าของสิทธิบัตร เช่น ยารักษาโรคต่างๆ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น หนังสือและเพลง การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ส่งผลให้สหรัฐฯ ผูกขาดสิทธิ์นานขึ้น โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ทำให้ยาราคาแพงขึ้น และการเข้าถึงยาเป็นไปได้ยาก โดยสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเป็น 25 ปี จากเดิม 20 ปีที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA