Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มกราคม 2549

อุตสาหกรรม

กิจการโทรคมนาคม : ผลจากการเคลื่อนย้ายทุนเข้ามาจากต่างประเทศ

คะแนนเฉลี่ย

ข่าวการเข้ามาซื้อหุ้นของนักลงทุนจากต่างประเทศในกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังอยู่ในความสนใจของทุกฝ่ายในขณะนี้ ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ได้ครอบคลุมบริการโทรคมนาคมที่หลากหลาย เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการสื่อสารดาวเทียม บริการอินเทอร์เน็ต บริการทางด้านข้อมูล ธุรกิจโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้ได้เพิ่มบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากประเทศหนึ่งเพื่อเข้าซื้อกิจการโทรคมนาคมได้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกในขณะนี้ การขยายเครือข่ายการให้บริการของกิจการในลักษณะเดียวกันในหลายแห่งของโลกของบริษัทข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการเพิ่มขึ้น เพิ่มการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะนำมาซึ่งผลตอบแทนทางการเงินที่จะได้รับกลับมาในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วงที่จะต้องมีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในประเทศเพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก และข้อตกลงเปิดเสรีกับหลายประเทศในลักษณะพหุภาคีและทวิภาคี ทำให้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมกิจการในลักษณะที่เคยผูกขาดไปสู่การแข่งขันอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไทยเองก็เป็นประเทศเป้าหมายที่กลุ่มทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน แม้ว่าตลาดให้บริการโทรคมนาคมของไทยในหลายประเภทมีแนวโน้มของการเติบโตของตลาดไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีศักยภาพทางการตลาดที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน

การเข้าสู่ภาวะการเปิดเสรีในกิจการโทรคมนาคมนั้น ได้ส่งผลกระทบทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนจากต่างประเทศไปสู่ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมภายหลังการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนี้
  1. ตลาดให้บริการมีแนวโน้มที่จะมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ผู้ใช้บริการอาจจะได้ประโยชน์ ในด้านการขยายเครือข่ายหรือการพัฒนาของเทคโนโลยีให้ทันสมัย และเป็นการเข้าสู่แนวทางของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดของผู้ให้บริการแต่ละราย เพื่อการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น อาจจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกและมีความหลากหลายมากกว่าเดิมด้วยอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม
  2. มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การเตรียมตัวไปสู่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 3 หรือ 4 หรือการเปิดใช้ธุรกิจดาวเทียมเป็นอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งใหม่ การเพิ่มคอนเทนท์หรือบริการเสริมที่เป็นลักษณะที่มีความหลากหลาย
  3. การแข่งขันที่รุนแรงในฐานของจำนวนผู้ให้บริการแบบน้อยรายในปัจจุบัน อาจนำไปสู่การผูกขาดของตลาดได้ในอนาคต ถ้าผู้ให้บริการเดิมมีการครอบงำตลาด หรือมีส่วนแบ่งตลาดที่มากพอที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด
  4. ผู้ประกอบการรายเล็กในตลาด ซึ่งมีเงินทุนในการขยายกิจการอาจต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
  5. รัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีความพร้อมทางด้านการแข่งขัน ทั้งในด้านเงินลงทุนและในด้านการบริหาร จำเป็นต้องเร่งปรับตัว
  6. กฎเกณฑ์การแข่งขันในการให้บริการจะต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะป้องกันการผูกขาดของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว หรือมีหน่วยงานที่จะต้องดูแลและพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่การกำกับดูแลนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขันของตลาด

ตลาดให้บริการโทรคมนาคมไทยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา การแข่งขันของผู้ให้บริการในปัจจุบันทำให้การให้บริการโทรคมนาคมไทยมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาของเทคโนโลยีและการเปิดให้เอกชนเข้ามาให้บริการทำให้การขาดแคลนการสื่อสารในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายในการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมตามข้อตกลงทางการค้าทำให้ไทยต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแข่งขันทางด้านกิจการโทรคมนาคมลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนและให้บริการได้เพิ่มขึ้น ซึ่งข้อดีของการเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศนั้นทำให้ตลาดให้บริการมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความกังวลต่อการจะเข้ามาผูกขาดกิจการโทรคมนาคมของต่างประเทศในไทยนั้นก็ทำให้ไทยเองต้องสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันเพื่อป้องกันการผูกขาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ส่งเสริมการแข่งขันที่มีประสิทธิผลและไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดจากผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม